3075
6 ‘อย่า’ ทำกับลูกวัยรุ่น

6 ‘อย่า’ ทำกับลูกวัยรุ่น

โพสต์เมื่อวันที่ : April 2, 2021

พ่อแม่ลูกทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติ ! แต่ที่ไม่ปกติก็คือ "การทะเลาะ" กันที่นำไปสู่ "ความขัดแย้ง" และกลายเป็นช่องว่างระหว่างวัย จนถึงขั้นพูดดี ๆ กันไม่ได้

 

โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารกันระหว่างคน 2 รุ่น คือ รุ่นของพ่อแม่ และรุ่นของลูกวัยรุ่น แล้วควรทำอย่างไรให้การพูดคุยของคน 2 วัยในครอบครัวไม่นำไปสู่กับปัญหา ตรงกันข้ามสามารถพูดคุยกันได้ด้วยดี มีการสื่อสารที่เข้าอกเข้าใจ และมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน งานนี้ชวนพ่อแม่มาสำรวจตัวเองและหาจุดร่วมกันว่าทำอย่างไรให้การพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่ลูกไม่เป็นเหมือนสนามรบ แต่เป็นสนามรักที่พร้อมจะเข้าอกเข้าใจกัน

 

ก่อนอื่นต้องเริ่มจากพ่อแม่ก่อนว่าการจะสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับลูกวัยรุ่นนอกจากจะทำความเข้าใจกับช่วงวัย พัฒนาการตามวัย พื้นนิสัยเดิมของลูกแล้ว สิ่งจำเป็นอีกประการก็คือ มีสิ่งใดบ้างที่พ่อแม่ควรรู้ว่าไม่ควรทำกับลูกวัยรุ่น 

 

❤︎ ประการแรก : อย่าคิดว่าเขาเป็นเด็กเล็ก อย่าปฏิบัติกับลูกวัยรุ่นประหนึ่งว่าเขายังเป็นลูกเล็ก ๆ อยู่นั่นแหละ เขาต้องการให้พ่อแม่มองเขาเป็นผู้ใหญ่ได้แล้ว เขาโตพอที่จะตัดสินใจหรือทำสิ่งใด ๆ แบบที่ผู้ใหญ่ทำแล้ว 

 

❤︎ ประการที่สอง : อย่าคิดว่าเขาทำไม่ได้ การห้ามหรือการบอกว่าลูกไม่ควรทำ ลูกทำไม่ได้ ยิ่งจะทำให้ลูกเกิดความท้าทาย และอยากทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่พ่อแม่พูด 

❤︎ ประการที่สาม : อย่าพูดซ้ำซาก ถ้าลูกรับปากทำสิ่งใด พ่อแม่ต้องมอบความไว้วางใจว่าลูกรับปากแล้วจะทำแน่นอน เพราะถ้าพ่อแม่พูดซ้ำซากในเรื่องเดิม ๆ ส่วนใหญ่จะได้ผลในทางตรงกันข้าม พ่อแม่ต้องเปลี่ยนท่าที โดยมอบความไว้วางใจว่าพ่อแม่ได้มอบหมายบางสิ่งบางอย่างอย่างให้ลูกทำ และเชื่อว่าลูกจะทำให้เสร็จตามที่ลูกรับปาก ซึ่งการกระทำกับคำพูดต้องไปด้วยกัน

 

 

❤︎ ประการที่สี่ : อย่าพูดฝ่ายเดียว การสื่อสารกับลูกวัยรุ่นต้องเป็นฝ่ายรับฟังมากกว่าพูด ถ้าลูกพูดแล้วพ่อแม่ไม่ฟัง คราต่อไปเขาก็ไม่อยากพูดให้พ่อแม่ฟังอีก แต่ถ้าพ่อแม่พร้อมที่จะรับฟังเขาเสมอ และเป็นฝ่ายรับฟังด้วยความตั้งใจและเข้าใจ ก็จะนำไปสู่ความไว้วางใจที่ลูกมีอะไรก็อยากเล่าให้พ่อแม่ฟัง 

 

❤︎ ประการที่ห้า : อย่าตำหนิอย่างเดียว เมื่อรับฟังแล้วมีบางเรื่องที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่เหมาะสมก็อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปหรือต่อว่าลูกทันที แต่ควรจะมีท่าทีที่เป็นมิตร อาจใช้วิธีแลกเปลี่ยน สอบถาม หรือยกตัวอย่างว่าถ้าทำอย่างนี้ แล้วจะเป็นอย่างไร พ่อแม่เป็นห่วงเรื่องอะไร เป็นลักษณะของการแลกเปลี่ยน โดยใช้น้ำเสียงที่น่าฟัง เพราะวัยรุ่นยังต้องการคำพูดที่อ่อนโยนในการตักเตือนหรือชี้แนะในการปรับตัว

❤︎ ประการที่หก : อย่าด่วนสรุป

ด้วยช่วงวัยฮอร์โมนที่ลูกยังเต็มไปด้วยการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลไปบ้าง ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าลูกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ติดเพื่อน ติดเกม หรือทำในสิ่งที่ไม่เหมาะ ควรจะฟังเขาพูด และบอกถึงสิ่งที่เขาคิดหรือทำในสิ่งนั้น ๆ ด้วย เพราะบางครั้งเราอาจจะพบเหตุผลหรือวิธีคิดของลูกในแบบที่เราคิดไม่ถึงเช่นกัน 

 

สิ่งสำคัญที่สุดที่ลูกต้องการนอกจากความรักแล้ว เขาต้องการการยอมรับการพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย บางคนอาจเลือกเส้นทางชีวิตที่ขัดใจพ่อแม่ ทำสิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบใจ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรทำความเข้าใจ ยอมรับและพูดคุยกับลูก ใช้ความรัก ความเข้าใจและการสื่อสารทางบวก เพื่อทำให้สัมพันธภาพระหว่างกันเป็นไปด้วยดี บนพื้นฐานของ “6 อย่า” สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นยากที่จะสั่นคลอน