255
รักเด็ก อย่าขู่ให้กลัว

รักเด็ก อย่าขู่ให้กลัว

โพสต์เมื่อวันที่ : March 24, 2021

...“ถ้าร้องไห้ ตำรวจจะจับนะ”...

จริง ๆ แล้วตำรวจจับเฉพาะคนที่ทำผิดไม่ใช่เหรอ ไม่ได้จับคนร้องไห้ซะหน่อย ที่อยากให้หยุดร้องไห้ก่อนเพราะอยากให้ลองดูและฟังคุณแม่อธิบายก่อนนะ

 

...“ถ้าไม่กินข้าว หมอจะฉีดยา”...

ทำให้หมอเป็นผู้ร้ายไปอีก จริง ๆ แล้วหมอก็ไม่ได้ฉีดยาเด็กดื้อแต่เพื่อรักษา และที่ต้องให้กินข้าวเพราะถ้าไม่กินจะหิวและไม่มีแรงไปวิ่งเล่น

 

...“ถ้าเดินไปตรงนั้นระวังผีหลอก”...

จริง ๆ แล้วเราอาจแค่กังวลเรื่องความปลอดภัย แต่ตรงนั้นไม่มีผีจริงนี่นา

 

หลายคนคงเคยเจอกันมาบ้างกับเรื่องขู่ให้เด็กกลัว บางคนโตมาทุกวันนี้ก็ยังฝังใจกับเรื่องราวเหล่านั้นที่ผู้ใหญ่หรือคนใกล้ตัวสร้างขึ้นมาโดยที่ไม่มีความจริง

 

รู้ไหมคะว่า เรื่องที่ผู้ใหญ่คิดว่าหลอกเล่น ๆ ในวันนั้น มันมีผลกระทบต่อชีวิตและความรู้สึกของเด็กคนนึง และการขู่เด็กก็ไม่มีประโยชน์อะไรในระยะยาว

 

การขู่ให้กลัว ทำให้เด็กรู้สึกถึงอารมณ์ในด้านลบ

เช่น กลัว ตกใจ ขะแขยง หวาดระแวง เพื่อให้เด็ดหยุดพฤติกรรมในทันทีล้วนมีผลกระทบ กับการหยุดเด็กด้วยวิธีนั้นจะมีผลตามมาอย่างแน่นอน เด็กจะมีความกังวล ขี้กลัวและหลีกเลี่ยงสิ่งที่ใกล้เคียงกับการโดนหลอกแบบนี้ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ เห็นได้ง่าย ๆ คือ เรื่องกลัวผี โตมาก็ยังไม่กล้าปิดประตูอาบน้ำคนเดียว เพราะกลัวผีที่โดนหลอกมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ ขาดประสบการณ์การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

รวมไปถึงการสร้างวินัย เข้าใจและรับรู้ในสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล เพราะผู้ใหญ่หยุดการกระทำด้วยความกลัว แต่ขาดการอธิบายให้เข้าใจในเหตุและผลที่จะตามมาทำให้เด็กไม่สามารถประยุกต์ใช้ปรับตัวเพื่อเรียนรู้ได้ เช่น ไปตรงนั้นจะเจอผีหลอกนะ แต่จริง ๆ ไม่อยากให้ไปเพราะความมืดและกลัวอันตรายไม่มีคนดูแล

 

ถ้าเรื่องที่ขู่หรือหลอกนั้นไม่เป็นความจริง เมื่อเขารู้ คำขู่ที่ไม่เกิดขึ้นจริง จะทำให้ไม่เชื่อถือในคำพูดของพ่อแม่และดื้อรั้นกว่าเดิม ห้ามโดยไม่มีเหตุผลสกัดความคิดสร้างสรรค์ของเด็กในการใช้ชีวิตและแก้ไขปัญหาในเรื่องง่าย ๆ ตามวัย

 

ท่องไว้ว่า เราแยกแยะได้

...“การขู่ พูดไปแล้วทำไม่ได้ ไม่เกิดขึ้นจริง”...

...“การสร้างเงื่อนไข มีเหตุผล พูดไปแล้วทำได้จริง”...

 

มีผลของการกระทำ รับผิดชอบต่อการกระทำ การสอนไม่ให้ทำด้วยเหตุผลง่ายกว่าดีกว่า การขู่จนจำฝังใจแน่ ๆ ค่ะ

 

การขู่จะเป็นเรื่องที่ไม่จริง และไม่สมเหตุสมผล ซึ่งเราเองทราบดี สมาชิกในครอบครัวควรเลือกวิธีการสอนในสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัยในการตักเตือนเด็ก ๆ ชื่นชมเมื่อเขามีพฤติกรรมที่ดีเพื่อเป็นกำลังใจคอยเสริมสร้างกระบวนการคิดที่ดีให้กับเค้า เด็กจะสามารถเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการสื่อสารโดยมาวิเคราะห์ให้เป็นเหตุเป็นผล

การสอนให้ลูกรู้ว่า หากเขาทำอะไร หรือไม่ทำอะไรบางอย่าง เขาจะได้รับผลของการกระทำที่ตามมาอย่างไรบ้าง เมื่อลูกรู้และเข้าใจ เป็นตัวแปรสำคัญให้เขาเป็นเด็กที่มีเหตุผลมากขึ้นและคุยกันง่ายขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องขู่เลยค่ะ