437
สร้าง New Habit ในครอบครัวยุค New Normal

สร้าง New Habit ในครอบครัวยุค New Normal

โพสต์เมื่อวันที่ : February 12, 2021

คำว่า 'New Normal' หรือชีวิตวิถีใหม่ เป็นคำที่ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า เป็นความปกติใหม่ ฐานวิถีชีวิตใหม่ หมายถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีต 

 

เมื่อเกิดวิกฤต Covid-19 คำว่า New Normal จึงถูกหยิบมาใช้อีกครั้ง เพราะความรุนแรงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบอันใหญ่หลวง และความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และแน่นอนทุกครอบครัวก็ได้รับผลกระทบเรื่องนี้ไปตาม ๆ กัน ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ร่วมกันในครอบครัว

 

สำหรับผู้ใหญ่ในบ้านก็ต้อง Work From Home ส่วนเด็ก ๆ ก็ต้อง Learn From Home นั่นหมายความว่าทำให้ช่วงเวลาอยู่ร่วมกันในครอบครัวเป็นแบบ 24 ชั่วโมง 

 

แม้จะเป็นการรับมือในรอบใหม่ จากที่ค่อนข้างโกลาหลในรอบแรกเมื่อปีที่แล้ว ก็น่าจะทำให้สามารถรับมือได้ดีขึ้น มองเห็นข้อดีของครอบครัวยุค New Normal และสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญที่นอกเหนือจากการสร้างสัมพันธภาพที่ดีก็คือการพยายามหาจุดร่วมของความสมดุลในครอบครัวให้เกิดเป็นลักษณะและพฤติกรรมใหม่ หรือนิสัยใหม่ New Habit ให้สมกับ New Normal 

 

✚ ใส่ใจเรื่องสุขอนามัย ✚

นับเป็นข้อดีของ Covid-19 ที่ทำให้ผู้คนหันมาดูแลสุขอนามัยทั้งส่วนตัว ครอบครัว และส่วนรวมมากขึ้น พ่อแม่ควรจะถือโอกาสนี้ปลูกฝังลูกและสมาชิกในครอบครัวให้มีลักษณะนิสัยที่ดีติดตัวทุกคน อย่างน้อยนอกจากรู้วิธีปฏิบัติตัวได้ถูกต้องแล้ว ก็ควรจะลงมือทำแบบจริงจังด้วย ไม่ว่าจะมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยเสมอเมื่อออกนอกบ้าน เว้นระยะห่าง (Social Distancing) หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ คอยหมั่นล้างมือบ่อย ๆ หรือคอยอาบน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ ฯลฯ

 

รวมถึงเวลาจะเดินทางไปไหนก็จะรู้วิธีปฏิบัติตัว และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด จนทำให้ติดเป็นนิสัย ที่สำคัญจะทำให้หันมาใส่ใจในการดูแลตัวเองและรักษาความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน รู้จักแยกข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวและส่วนรวม  

 

✚ ใส่ใจเรื่องการเงิน ✚

ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ผู้คนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเรื่องการเงินที่บางครอบครัวอาจรายได้ลด หรือต้องออกจากงาน หรือได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็น่าจะถือโอกาสเรื่องนี้ในการทบทวนเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เพื่อความมั่นคงของครอบครัว

 

ด้วยการวางแผนการจัดการเรื่องการเงินภายในบ้านร่วมกับสมาชิกในครอบครัว กรณีที่ลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นก็ควรพูดคุยให้เข้าใจถึงสภาพการเงินของครอบครัว เพื่อแสดงให้เขารับรู้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และให้เขาได้มีส่วนร่วมในการจัดการวางแผนการเงินอย่างไรในช่วงนี้ เพื่อสะท้อนให้ลูกจัดลำดับความสำคัญว่าควรจะซื้อสินค้าอะไรก่อนหลัง อะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น อะไรรอได้ และอะไรเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย เพราะได้เรียนรู้แล้วว่าในช่วงวิกฤติ สิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตจริง ๆ คืออะไร

 

✚ ใส่ใจความรู้สึกของกันและกัน ✚

พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ต้องปรับเปลี่ยนมาทำงานผ่านออนไลน์ (Work from Home) รวมไปถึงการประชุมผ่านออนไลน์ ในขณะที่ลูกก็เรียนออนไลน์ (Learn from Home) นอกเหนือจากการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันในขณะอยู่บ้านที่ต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของสมาชิกทุกคนในครอบครัวด้วย มีการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ที่ดี เพราะบางช่วงเวลา สมาชิกในครอบครัวก็ต้องการพื้นที่และเวลาส่วนตัว เรียกว่าในช่วงที่เกิดสถานการณ์ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ที่จะปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมเมื่อต้องอยู่ร่วมกัน เข้าใจความรู้สึกซึ่งกันและกัน 

 

เมื่อเห็นโอกาสในวิกฤติ ก็จะทำให้เราใช้โอกาสนั้นในการสร้างสิ่งใหม่ที่มีคุณลักษณะที่ดีให้เกิดขึ้นในครอบครัวได้ ในเมื่อมีเวลามากขึ้นก็อยากให้มีคุณภาพด้วย มีการทำกิจกรรมที่ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น มองให้เห็นข้อดีของการอยู่ร่วมกัน ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจ ใส่ใจ และใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม รวมถึงยังช่วยลด Generation Gap หรือช่องว่างระหว่างวัยอีกด้วย 

 

..."นี่แหละที่เรียกว่า “ต้องใจมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา”...