1141
อย่ารับปากหรือสัญญาในสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะเด็ก ๆ จำได้แม่นยำกว่าที่เราคิด

อย่ารับปากหรือสัญญาในสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะเด็ก ๆ จำได้แม่นยำกว่าที่เราคิด

โพสต์เมื่อวันที่ : March 9, 2021

เด็กน้อย : “แม่คะ หนูอยากเล่นเครื่องเล่นนี้กับแม่” (พร้อมชี้ไปที่เครื่องเล่นที่แม่ไม่อยากเล่น)
แม่ : “ไว้คราวหน้านะลูก” (คุณแม่ผู้ไม่ต้องการเล่นเครื่องเล่น จึงตอบแบบนี้ไป)
เด็กน้อย : “แต่หนูอยากเล่นวันนี้”
แม่ : “วันนี้แม่รีบ ไว้คราวหน้านะคะ”
เด็กน้อย : “แม่สัญญานะว่า คราวหน้าได้เล่น”
แม่ : “โอเค แม่สัญญา คราวหน้าแม่เล่นด้วยเลย”

 

เมื่อครั้งต่อมามาถึง...

 

เด็กน้อย : “แม่ ๆ เราจะเล่นเครื่องเล่นนี้กันวันนี้”
แม่ : “หนูไปเล่นคนเดียวได้ไหม เดี๋ยวแม่ไปเฝ้าข้างล่างนี้นะคะ”
เด็กน้อย : “แต่แม่สัญญาแล้วนี่น่า ว่าจะแม่จะเล่นกับหนู”
แม่ : “แม่กลัวความสูง หนูไปเล่นเองได้ไหม”
เด็กน้อย : (เริ่มงอแง) “แต่เเม่สัญญาว่า แม่จะเล่นกับหนู”
แม่ : “แม่บอกแล้วไงว่า แม่ไม่เล่น ถ้าหนูไม่เล่นเอง ก็ไม่ต้องเล่น กลับบ้าน”
เด็กน้อย : (ลงไปร้องไห้)

 

เหตุการณ์แบบนี้ ถามว่า เด็กน้อยทำผิดไหม ? 

ผู้ใหญ่อาจจะมองว่า “การรับปาก” หรือ “สัญญา” อะไรกับเด็ก ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องมาจริงจังอะไรขนาดนั้น เพราะเชื่อว่า "เขายังเด็ก ไม่นานเขาก็ลืม” เป็นความจริงที่เด็กหลายคนมีแนวโน้มที่จะ "โกรธง่าย หายเร็ว" แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า "เขาจะลืมในสิ่งที่เกิดขึ้นไปด้วย” เด็กจดจำได้ดีกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะสิ่งที่เขาตั้งตารอหรือคาดหวังว่าจะได้รับเมื่อเวลามาถึง

 

 

ถ้าให้ผู้ใหญ่อย่างเราย้อนกลับไปช่วงวัยเด็กของเรา เคยจำได้ไหมว่า “เราเคยได้รับสัญญาอะไรจากผู้ใหญ่บ้าง” หรือ “ตั้งตารออะไรบ้าง” ดังนั้นคำว่า “สัญญา”หรือ “รับปาก” จึงไม่ควรพูดออกไป ถ้าหากเราไม่สามารถทำในสิ่งที่พูดได้ หรือไม่มั่นใจว่าเราจะทำมันได้จริง เพราะเด็ก ๆ จดจำทุกรายละเอียดในสิ่งที่เขาได้รับจากผู้ใหญ่ อย่างเช่นในเหตุการณ์ข้างต้น เด็กน้อยจำได้แม่นว่า “ครั้งหน้าที่มา เขาจะได้เล่นเครื่องเล่น ไม่ใช่แค่ได้เล่นคนเดียว แต่แม่ต้องเล่นเครื่องเล่นกับเขาด้วย”

 

ด้วยเหตุนี้ คุณแม่ในเหตุการณ์ที่ทราบถึงข้อจำกัดของตัวเองดี คือ “กลัวความสูง” ก็ไม่ควรสัญญากับลูกว่า “จะเล่นเครื่องเล่นนี้กับลูก” แต่บอกเพียงว่า “ให้ลูกได้เล่นเครื่องเล่นครั้งหน้า” ก็เพียงพอ ถ้าบอกประโยคหลัง แล้วลูกยังรบเร้าให้เเม่เล่นด้วย เราก็ควรยืนกรานกับลูกว่า “แม่กลัวความสูง เพราะอะไร และถ้าแม่ขึ้นไปบนเครื่องเล่นจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าลูกไม่อยากขึ้นคนเดียว ก็ต้องรอคุณพ่อ หรือ ผู้ใหญ่คนอื่นมาด้วยครั้งหน้า”

ผู้ใหญ่บางท่านอาจจะไม่อยากทำร้ายความรู้สึกเด็ก ณ เวลานั้น จึงบอก “สัญญา” หรือ “ตกลงรับปาก” ไป ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่า “เราอาจจะทำในสิ่งที่เขาขอไม่ได้” เช่น ลูกอยากได้สิ่งของราคาแพงเกินกำลังทรัพย์ของเรา หรือ ไปยังสถานที่ที่เราไม่สามารถไปได้

 

ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ...“เราไม่ควรรับปากหรือสัญญากับเด็กในสิ่งที่เราไม่มั่นใจว่าเราทำได้”... เพราะเมื่อเราไม่สามารถรักษาคำพูดได้ นอกจากความผิดหวังที่เกิดขึ้น ที่ไปทำร้ายความรู้สึกเขามากกว่าการบอกไปเสียตั้งแต่ต้น ยังทำให้พัฒนา “ความลังเลสงสัย” ในตัวเราด้วยว่า “เขาสามารถเชื่อคำพูดของผู้ใหญ่คนนี้ได้จริงหรือ ?”

 

“การรับปาก” หรือ “การให้สัญญา” สำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นแค่เรื่องไปเล่นเครื่องเล่น หรือ จะได้กินครั้งหน้า เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขาเสมอ เพราะสำหรับเขา ถ้าหากผู้ใหญ่ทำได้ตามที่รับปากหรือสัญญาไว้ นั้นหมายความว่า “เขาสามารถเชื่อใจคำพูดผู้ใหญ่คนนี้ได้” เด็กก็จะพัฒนาความเชื่อมั่นที่มีต่อผู้ใหญ่คนนั้น และนำไปสู่เมื่อเกิดเหตุการณ์ใด ๆ แล้วผู้ใหญ่คนดังกล่าวต้องการพูดสอนสั่ง เด็กมีแนวโน้มจะเชื่อและปฏิบัติตามผู้ใหญ่คนนั้นมากกว่า

 

ถ้าเด็กน้อยขอให้เราสัญญาหรือรับปากในสิ่งใด ขอให้เราตระหนักอยู่เสมอว่า...

 

ข้อที่ 1 พิจารณาดูก่อนว่า "สิ่งนั้นเหมาะสมที่จะทำหรือมอบให้กับเด็กหรือไม่"

ข้อที่ 2 เรามั่นใจว่า "เราสามารถทำได้ตามที่เราพูดไหม"

ข้อที่ 3 เราจะไม่พูดตกลงรับปากหรือให้คำสัญญาพร่ำเพื่อ เพราะสองสิ่งนี้ควรใช้ในสิ่งที่สำคัญ และไม่ใช่เพื่อเป็นการจบปัญหาที่เผชิญอยู่ ณ ตอนนั้น

 

ในกรณีที่เราไม่ได้มั่นใจหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า เราสามารถทำสิ่งนั้นได้ แต่ก็คิดว่า อาจจะมีแนวโน้มทำได้บ้าง และเราไม่อยากให้เด็กน้อยผิดหวัง เราสามารถบอกเขาว่า “แม่จะลองพยายามสุดความสามารถ แต่ถ้าเกิดแม่ทำไม่ได้ในครั้งนี้ อยากให้ลูกให้อภัยแม่ และในครั้งต่อไปแม่จะพยายามต่อไป” เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้ว่า “ความคาดหวัง” ครั้งนี้ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เขาจะได้เผื่อใจไว้บ้าง เมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปดังหวัง อย่างน้อยเขาจะไม่เสียใจจนเกินไป

 

สุดท้าย “การรับปาก” หรือ “การสัญญา” นั้นมีความหมายกับเด็ก ๆ แต่ละคนมาก เพราะมันไม่ใช่แค่เพียง “ความคาดหวัง” ของเขา แต่เพราะ ผู้ใหญ่ที่มีความสำคัญในชีวิตเขาเป็นผู้พูด “คำตกลงรับปาก” และ “ให้คำมั่นสัญญา”

 

...“เด็ก ๆ พัฒนาความเชื่อใจ และเชื่อมั่นใจสภาพแวดล้อมจากผู้ใหญ่ที่เขารัก เป็นบุคคลที่เขาสามารถเชื่อใจได้ เด็ก ๆ ที่เติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เขาเชื่อใจได้ มีแนวโน้มจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เชื่อมั่นในตนเอง และรักษาคำพูดเช่นกัน"...

 

..."ไม่ใช่แค่เพียง 'เด็ก ๆ' ที่ต้องการสภาพแวดล้อมหรือบุคคลที่เขาสามารถเชื่อใจได้ 'ผู้ใหญ่' อย่างเราก็เช่นกัน"...