1170
ฝึกลูกมีจริยธรรมในยุคดิจิทัล

ฝึกลูกมีจริยธรรมในยุคดิจิทัล

โพสต์เมื่อวันที่ : January 1, 2021

สภาพสังคมยุคปัจจุบันส่งผลให้รูปแบบในสถาบันครอบครัวเปลี่ยนไป หนุ่มสาวแต่งงานช้าลง รูปแบบชีวิตคู่ก็มีความหลากหลายมากขึ้น และมีค่านิยมไม่มีลูกหรือมีลูกน้อยลง เมื่อพ่อแม่มีลูกน้อยลงก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เด็กได้รับการสนองตอบจากพ่อแม่อย่างเต็มที่โดยเฉพาะในด้านวัตถุ 

 

ยิ่งเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล ยิ่งมีโอกาสที่ลูกจะติดหน้าจอ ส่งผลให้เด็กยุคนี้ปรับตัวเข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และดำเนินชีวิตได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับเด็กยุคก่อน ๆ เกิดปัญหาเรื่องการปรับตัว สนใจแต่เรื่องของตัวเอง อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมยากขึ้น และนี่คืออีกปัญหาหนึ่งที่สังคมกำลังเผชิญ เป็นเรื่องใหญ่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเพิ่มความใส่ใจ ช่วยดูแล และบ่มเพาะให้ลูกเติบโตขึ้นมาในยุคดิจิทัลแบบมีทักษะที่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้แบบมีคุณภาพและมีคุณธรรมด้วย ในที่นี้อยากเน้นการบ่มเพาะเรื่องจริยธรรม 

 

งานวิจัยของ ดร.เอมด์ (Dr. Emde) จิตแพทย์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science Center) มหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา พบว่าเด็กน้อยวัย 2-3 ขวบจะหันมองหน้าแม่ ดูว่าแม่จะอนุญาตหรือไม่ ถ้าเขาเดินเข้าไปใกล้ของเล่น เป็นการมองหาคำอนุญาตจากแม่ อากัปกิริยาของพ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งที่บอกให้เด็กรู้ว่าเขาทำสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ 

 

กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่พ่อแม่สอนเด็ก จะช่วยให้เด็กมีจริยธรรมมีความภูมิใจในตัวเอง ถ้าทำสิ่งที่ถูกต้องขณะเดียวกันถ้าทำผิดก็จะมีความละอายเพราะทำสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ 

 

ความละอายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตเป็นคนรู้จักผิดชอบชั่วดี เช่น ถ้าเด็กแกล้งรังแกสัตว์เลี้ยงในบ้านซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ พ่อแม่ก็จะต้องสอนให้เด็กรู้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่น่าละอาย เป็นสิ่งไม่ดี

 

เด็กเรียนรู้เรื่องจริยธรรมตลอดเวลา แม้กระทั่งจากการพูดจาของคนในบ้าน เด็กจะได้แบบอย่างจากพ่อแม่ ลองคิดดูว่าจะมีผลต่อเด็กอย่างไรถ้าแม่ไม่อยากรับโทรศัพท์แล้วให้ลูกบอกว่าแม่ไม่อยู่ นั่นเท่ากับทำให้เด็กได้เรียนรู้การโกหก เขาก็จะเลียนแบบ

 

ในทางตรงข้ามถ้าเขาได้ยินผู้ใหญ่ในบ้านพูดจาไพเราะ มีคำว่า “ขอบคุณ” “ขอโทษ” อยู่บ่อย ๆ เด็กก็ย่อมจะซึมซับสิ่งเหล่านั้นไปด้วย พ่อแม่ควรนึกอยู่เสมอว่าลูกเรียนรู้เรื่องจริยธรรมจากพ่อแม่ในการใช้ชีวิตประจำวันตลอดเวลา

 

ต้องยอมรับว่าพ่อแม่ยุคนี้มีความสนใจเรื่องการเลี้ยงลูกมากกว่าพ่อแม่ในยุคก่อน โดยเฉพาะเรื่องสมองของมนุษย์เป็นอวัยวะส่วนที่สำคัญที่สุด และมีความมหัศจรรย์มากที่สุด ยิ่งใช้ยิ่งดียิ่งมีคุณภาพ ยิ่งถ้าได้ถูกกระตุ้นในช่วง 6 ขวบปีแรกของชีวิต ก็จะทำให้เส้นใยสมองของมนุษย์ขยายเครือข่ายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะยิ่งทำให้เด็กได้เรียนรู้และมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และนั่นจึงเป็นที่มาที่พ่อแม่ผู้ปกครองยุคนี้ใส่ใจเรื่องการเลี้ยงดูลูกช่วงปฐมวัย และพยายามส่งเสริมศักยภาพสมองของลูก

 

เด็กควรได้รับการส่งเสริมให้ใช้พลังสมองไปในทางที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงเรื่องระดับช่วงวัย ระดับจริยธรรม และระดับสติปัญญา ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับสมอง 3 ส่วน 

 

✚ ส่วนแรกคือก้านสมอง ✚

เป็นส่วนของการมีชีวิตรอดคือ สัญชาติญาณ ความอยาก การเอาตัวรอด การตอบสนองตามสัญชาตญาณ รวมถึงการควบคุมกล้ามเนื้อต่าง ๆ ให้เคลื่อนไหวได้ตามต้องการ เช่น ร้องเมื่อหิว หรือเพราะป่วยไข้ สมองส่วนนี้ หากไม่ได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมอาจกลายเป็นการสะสมความอยาก หรือกิเลสของเด็กให้เพิ่มขึ้นได้ เป็นความอยากในสิ่งที่มากกว่าความต้องการพื้นฐาน ถ้าหากพ่อแม่ไม่ให้เหตุผล หรือตอบสนองลูกอย่างง่ายดาย โอกาสที่จะทำให้เด็กเกิดกิเลสก็จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

 

✚ ส่วนที่สองคือสมองส่วนกลาง ✚

เป็นส่วนที่จดจำเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ เช่น รัก ชอบ โกรธ เกลียด ลูกจะมีอารมณ์อย่างไร ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการปลูกฝังอารมณ์มาจากพ่อแม่ ฉะนั้นคนเป็นพ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักยับยั้งชั่งใจ รวมถึงการสอนให้ลูกมีเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ในการตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ

 

✚ ส่วนที่สามคือสมองส่วนบน ✚

เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคุณธรรมจริยธรรม สร้างกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล เข้าใจเหตุปัจจัยต่าง ๆ ถ้าสมองส่วนนี้มีการพัฒนามาตั้งแต่แรกเกิด แม้จะพัฒนาได้ค่อนข้างช้า เพราะใช้เวลาในการสะสมความรู้ความเข้าใจค่อนข้างนาน แต่เป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่การคิดระดับสูง 

 

ปลูกฝังบ่มเพาะเรื่องจริยธรรมได้อย่างไร ?

 

❤︎ ประการแรก : แบบอย่างที่ดี แรกสุดของพัฒนาการเรื่องจริยธรรมยังเป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัวก่อน เด็กจะนึกถึงตัวเองก่อน (Ego Centric) คือ นึกถึงตัวเองเป็นใหญ่ และคิดว่าสิ่งที่เขาต้องการเป็นสิ่งถูกต้อง ฉะนั้น จำเป็นที่พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ใกล้ชิดเด็กต้องเป็นแบบอย่างที่ดีเสียก่อน และเมื่อลูกเริ่มเข้าใจมากขึ้น พ่อแม่สามารถช่วยพัฒนาเรื่องจริยธรรมให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการสอนลูกให้มีสัมพันธภาพที่ดีกับเด็กคนอื่น 

 

รวมถึงต้องสอนให้ลูกรู้จักเคารพกฎกติกา โดยไม่บังคับ ดุด่าว่ากล่าว เพราะเด็กมักจะเชื่อในสิ่งที่เห็นมากกว่าคำพูด เช่น การที่พ่อแม่ห้ามไม่ให้ลูกทำสิ่งใด แต่พ่อแม่กลับทำซะเอง หรือห้ามลูกดูทีวี แต่พ่อแม่ดูได้นะ รับรองว่าไม่เกิดผลอย่างแน่นอน

 

❤︎ ประการที่สอง : พึ่งพาตัวเอง ฝึกให้ลูกรับผิดชอบตัวเอง พึ่งพาตัวองได้ ไม่ใช่พ่อแม่ทำให้ลูกทุกเรื่อง หรืออาจจะต้องสร้างสถานการณ์ให้ลูกฝึกฟันฝ่าอุปสรรคบ้าง เขาจะได้เรียนรู้ถึงการได้มาในสิ่งใดก็ต้องมีความพยายามอุตสาหะ เป็นการเรียนรู้คุณค่าของที่ได้มาและคุณค่าของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่การเห็นคุณค่าของผู้อื่น 

 

❤︎ ประการที่สาม : อย่าจ้องจะสอน อย่าพยายามจ้องจะสอนลูกอยู่ตลอดเวลา แต่พ่อแม่ควรเปลี่ยนมาใส่ใจพูดคุยและรับฟังลูกด้วยท่าทีที่เป็นมิตรเสมอ พยายามเปิดโอกาสให้ลูกได้พูด และทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกได้พูด ได้แสดงความรู้สึก

 

จากนั้นก็นำไปสู่การคิดวิเคราะห์ ด้วยการตั้งคำถามลูกว่า ลูกมีความรู้สึกอย่างไร มีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนั้น ๆ สิ่งไหนถูกหรือผิดในทัศนะของลูก และควรจะมีทางออกอย่างไร เป็นการช่วยให้ลูกฝึกคิด มีวิจารณญาณ เพราะเด็กจะต้องเจอปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ การฝึกให้ลูกรู้จักคิด จะช่วยให้เขาเผชิญปัญหาในอนาคตได้ดี ขณะเดียวกันระหว่างพูดคุยกันพ่อแม่ก็สามารถยกตัวอย่างเรื่องดี ๆ หรือคนที่ทำอะไรดี ๆ ในการแก้ปัญหา ก็เป็นการส่งเสริมลูกไปในตัวด้วย 

 

❤︎ ประการที่สี่ : รู้จักละอายใจ เรื่องนี้จำเป็นมาก การสอนให้ลูกละอายแก่ใจถ้าทำสิ่งไม่ดี แม้จะไม่มีคนเห็นแต่เรารู้อยู่แก่ใจ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ และต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นเรื่องการสร้างจิตสำนึก เป็นเรื่องที่ต้องอยู่ด้านในของจิตใจที่จะต้องสอนลูกตั้งแต่เล็ก ไม่ว่าจะมีคนเห็นหรือไม่ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็จะไม่ทำ

 

❤︎ ประการที่ห้า : ไม่ให้ค่ากับคนโกง เนื่องเพราะสังคมยุคนี้ให้ความสำคัญและยกย่องคนเก่ง คนรวย โดยไม่ได้สนใจว่าคนเก่ง หรือคนรวยเหล่านั้นใช้วิธีใดถึงรวยหรือเก่ง เช่น เมื่อเห็นเพื่อนโกงข้อสอบแล้วไม่มีคนจับได้ ก็จะมีคนชื่นชมว่าเพื่อนคนนี้เจ๋งมาก ทำแบบนี้ไม่มีใครจับได้ กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความชื่นชมไป ซึ่งนับเป็นทัศนะที่อันตรายมาก ควรจะสอนลูกให้คุณค่าคนที่ความดี ไม่ใช่คนโกง

 

สิ่งสำคัญที่สุด ต้องเข้าใจว่า การจะปลูกฝังให้ลูกมีคุณธรรมจริยธรรมสามารถทำได้ตั้งแต่เล็ก ต้องสอนให้ลูกแยกแยะระหว่างความดีกับความชั่ว ระหว่างถูกกับผิด ระหว่างสิ่งที่เหมาะและไม่เหมาะ อย่าคิดว่าลูกเล็กยังไม่เข้าใจ รอให้ลูกโตก่อน เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะเมื่อรอให้ลูกโตแล้ว การแก้ปัญหาย่อมยากกว่าการปลูกฝัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมยุคดิจิทัล ที่ต้องมีการปรับตัวเข้ากับสังคม หรือเรื่องการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม เข้าไปในชีวิตของพวกเขาด้วย

 

..."อย่าปล่อยให้ถึงช่วงวัยรุ่นก็สายเสียแล้ว !"...