3789
เมื่อพี่น้อง...ทะเลาะกัน

เมื่อพี่น้อง...ทะเลาะกัน

โพสต์เมื่อวันที่ : December 21, 2020

...“นั่นของหนูนะ” ...“แม่ น้องแย่งของเล่นของผม” ...“ดูพี่ทำสิ แม่” “ดูน้องทำสิ” ...“พี่เขาผลัก/ตีหนู !”...

 

ประโยคนำที่คุ้นหู ที่คนเป็นพ่อแม่ที่มีลูกมากกว่า 1 คนคงได้ยินกันบ่อยครั้ง แล้วตามมาด้วยเสียงถกเถียงทะเลาะกัน หรือภาพพี่และน้องกำลังฉุดกระชากของจากมือของอีกฝ่าย และมักจบลงด้วยเสียงร้องไห้ของคนใดคนหนึ่ง หลายครั้งก็ทั้งคู่ การขึ้นเสียงของพ่อแม่ และบางครั้งจบด้วยน้ำตาของคนเป็นแม่เข้าไปอีก ช้ำใจได้อีก แต่ทำไมไม่รู้ของเล่นหรือของในมือของคนอื่นนั้นน่าเล่นและน่าแย่งเสมอ

 

จึงทำให้หลายครอบครัวคงเห็น ‘การทะเลาะ’ กันระหว่างพี่น้องจนหลายบ้านเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป ในขณะที่หลายบ้านก็เป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกินจิตใจของพ่อแม่ไม่น้อย เพราะครอบครัวของเราก็มีเพียงเท่านี้ ทำไมลูกต้องมาทะเลาะกันด้วย แน่นอนว่า ปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน เป็นเรื่องที่น่าเบื่อและน่ารำคาญของคนเป็นพ่อแม่

 

 

นี่คือเรื่อง ‘ปกติ’ และ ‘จำเป็น’ ในการเติบโตในฐานะพี่ ฐานะน้อง และในฐานะครอบครัว มีการศึกษาในต่างประเทศพบว่าเด็กเล็กในวัย 2-4 ปีที่อยู่ร่วมกันจะทะเลาะกัน 6.3 ครั้งต่อชั่วโมง หรือพูดง่าย ๆ คือ ทะเลาะกันทุก 9.5 นาที อ่านงานวิจัยแล้วก็ปาดเหงื่อแทนตัวเองและคุณพ่อคุณแม่ลูกสอง ลูกสามที่มีลูกอายุไล่เลี่ยกันครับ แต่มันจะค่อย ๆ ลดลงจาก 6.3 เป็น 3.5 ครั้งต่อชั่วโมงในกลุ่มเด็กที่มีอายุ 3-7 ปี

 

รู้สึกดีขึ้นกันไหมครับ ? แม้ว่าพี่น้องทะเลาะกันจะเป็นเรื่องปกติ แต่ทุกคนต้องได้เรียนรู้ผ่านความขัดแย้งและการทะเลาะกันให้ได้มากที่สุดเพื่อให้แต่ละคนเคารพสิทธิ์ของกันและกัน ปรับตัวเข้าหากัน ยอมรับและจัดการกับความขัดแย้งนั้นได้อย่างเหมาะสมโดยไม่มีคำว่า “พี่ต้องยอมน้อง” อยู่ร่ำไป เพราะทุกความขัดแย้งสอนให้เด็กเติบโต

 

สอนให้เราโต้แย้งและพูดในสิ่งที่เราต้องการได้ รู้ว่าตอนไหนต้องสู้ไม่ถอย รู้ว่าตอนไหนควรถอยและโอนอ่อนผ่อนตาม รู้ถึง ‘ฐานะ’ ของความเป็นพี่หรือความเป็นน้อง สอนให้อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวที่ผ่านสุขและทุกข์ ผ่านการเห็นด้วยและขัดแย้ง และผูกพันกันมากขึ้น

เมื่อลูกทะเลาะกัน สิ่งที่พ่อแม่พึงกระทำ

❤︎ โอกาส ❤︎

ให้โอกาสให้ลูกได้จัดการกับการทะเลาะกันจนกระทั่งจุดที่ผู้ใหญ่ต้องเข้าไปแทรกแซง หลายบ้านพ่อแม่เข้าไปเป็นกรรมการตัดสินทันทีที่ลูกเริ่มแย่งของหรือทะเลาะกันโดยไม่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ที่จะเจรจาและจัดการกับปัญหาด้วยตนเอง หลายครั้งพวกเขาเองก็สามารถจัดการกับปัญหาระหว่างกันได้อย่างน่าแปลกใจ ปัญหาการแย่งของเล่นอาจจบลงที่การเล่นด้วยกัน หรือแบ่งของเล่นที่อีกคนไม่ได้เล่นให้กันก็ได้เพียงแค่ให้โอกาสให้เขาจัดการกันเองบ้าง 

 

เงื่อนไขมีเพียงอยู่ไม่กี่ข้อ ก็คือ เราไม่ทำร้ายกัน เราไม่ด่ากันด้วยคำหยาบคาย และเราไม่ทำลายสิ่งของ โดยที่มีผู้ใหญ่อย่างเราเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ เมื่อมีหรือกำลังจะมีการลงไม้ลงมือ หรือขึ้นเสียงตวาดกันด้วยคำไม่น่ารักเมื่อนั้นพ่อแม่ต้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อให้เขารู้ ‘กฎ’ ว่าแบบนี้ทำไม่ได้นั่นเอง

❤︎ ความยุติธรรม ❤︎

พ่อแม่ต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม ไม่มีคำว่า “พี่ต้องยอมน้อง” หรือ “น้องต้องยอมพี่” (บางบ้านก็รักลูกคนโตมากกว่าจนทำให้การตัดสินของพ่อแม่เกิดความลำเอียงอย่างชัดเจนได้) ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ของเล่นชิ้นนี้ของใคร คนนั้นย่อมมีสิทธิ์ที่จะแบ่งปันหรือไม่แบ่งปันให้กันได้ วันนี้วันเกิดของใคร ของขวัญนี้เป็นของใคร ใครต้องได้เป่าเทียนวันเกิด ฯลฯ

 

❤︎ ความสำคัญของคนเป็นพี่ ❤︎

คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับคนพี่มากกว่าคนน้องเล็กน้อยในช่วงแรกที่คนเป็นน้องเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว โดยการให้ความสำคัญในที่นี้ต้องไม่แยกพี่แยกน้องออกจากกัน ทำกิจกรรมและเวลาที่ดีร่วมกันอย่างเต็มที่ระหว่างพ่อแม่กับลูกทุกคน มีเวลาที่ดีให้คนพี่เหมือนวันที่เขายังเป็นลูกคนเดียวบ้าง

 

และสร้างความรู้สึกว่า “เขาคือพี่” ผ่านการชื่นชมเชิงบวก ให้โอกาสเขาได้ดูแลน้องได้ผ่านกิจวัตรประจำวันอย่าง หยิบเสื้อให้น้อง ช่วยทาครีมให้น้อง ช่วยดูแลและจูงมือน้องในวันที่น้องเริ่มหัดเดิน ฯลฯ เพื่อให้เขา ‘รู้สึก’ ว่าเขาสามารถปกป้องดูแลน้องได้ และ ‘อยาก’ ที่จะดูแลน้องผ่านเรื่องราวดี ๆ คำพูดดี ๆ ต่อกัน

 

❤︎ ไม่เปรียบเทียบลูก ❤︎

หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่เปรียบเทียบลูกแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น “ดูน้องบ้าง น้องยังไม่ทำแบบนี้เลย” “ทำไมดื้ออย่างนี้ หัดทำตัวดี ๆ ให้ได้สักครึ่งของพี่ได้ไหม” หรืออีกร้อยแปดประโยคที่ยกคนหนึ่งให้สูงกว่าอีกคนและกดอีกคนให้รู้สึก ‘แย่’ เพราะลูกทีได้ฟังประโยคนี้อาจไม่ได้มองพี่หรือน้อยเป็น ‘ตัวอย่างที่ดี’ หากแต่เป็น ‘คนที่ทำให้ตัวเองถูกตำหนิ’ และอาจสร้างความรู้สึกต่อต้านและไม่ชอบอีกฝ่ายได้อีกด้วย

 

ชื่นชมในพฤติกรรมที่ดี เพิกเฉยหรือตำหนิในพฤติกรรมที่ไม่ดี ให้ชัดใน ‘พฤติกรรมเป้าหมาย’ ที่เราต้องการปรับลูกแต่ละคน ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบหรือกระทบกระเทียบกัน

 

❤︎ เวลาคุณภาพ ❤︎

เป็นสิ่งพื้นฐานในการสร้างความอบอุ่นและสร้างความผูกพันระหว่างกันที่ดีที่สุด ผ่านประสบการณ์และคำพูดที่ดีต่อกันก็สามารถลดการทะเลลาะเบาะแว้งลงได้แล้วไม่มากก็น้อยครับ

 

พี่น้องทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติ เพราะเขากำลังเติบโตร่วมกันเท่านั้นเอง