884
การปลูกฝังความรักในการเรียนรู้ให้เด็ก

การปลูกฝังความรักในการเรียนรู้ให้เด็ก

โพสต์เมื่อวันที่ : October 20, 2020

 

“เมื่อเด็กมีทัศนคติทางบวกต่อสิ่งใด เขาจะสามารถเรียนรู้ได้ดี” ดังนั้นการเรียนรู้ในเด็กเล็ก ควรเริ่มจากการสร้างความรักให้เกิดขึ้นก่อนความรู้ เด็กที่มีนิสัยรักการเรียนรู้ สำหรับเขาการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ และทุกเวลา

 

 

ความรักในการเรียนรู้สามารถปลูกฝังให้กับเด็ก ๆ ผ่านสิ่งเหล่านี้

 

▶︎ การเล่น "การเรียนรู้ของเด็กเล็ก" เท่ากับ “การเล่น" และ “การเล่น" เท่ากับ "การเรียนรู้” เมื่อไหร่ที่เด็กเล่น เขาได้เรียนรู้ นอกจากนี้การเล่นยังเป็นการเตรียมร่างกาย (กล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่) ให้พร้อมสำหรับการใช้งานในการเรียนรู้ขั้นต่อไป ได้แก่ การควบคุมร่างกายตนเอง ซึ่งนำไปสู่การมีสมาธิที่เพียงพอต่อการจดจ่อเพื่อเรียนรู้เนื้อหาต่าง ๆ การเขียน และการอ่าน

 

สิ่งที่เด็กเล็กควรเล่น

  • เล่นกับธรรมชาติ เช่น น้ำ หิน ดิน ทราย โคลน ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ฯลฯ
  • เล่นกับสีต่าง ๆ เช่น สีน้ำ สีเทียน สีไม้ และสีต่าง ๆ
  • เล่นของเล่นอิสระหรือของเล่น Free form เช่น บล็อกไม้ ดินน้ำมันหรือแป้งโดว์ ตัวต่อหรือเลโก้ ไม้ไอศครีม กล่องลัง ขวดน้ำ และของเล่นที่ไม่ได้กำหนดมาตั้งแต่ต้นว่าต้องเป็นอะไร
  • เล่นบทบาทสมมติ ในเด็กวัย 2-3 ปีขึ้นไป เด็กจะเริ่มพูดกับตัวเอง (Self-talk) เพื่อบรรยายสิ่งที่เขาทำหรือเล่น บทบาทสมมติค่อยๆ เริ่มขึ้น ณ เวลานั้น เด็ก ๆ จะเล่นเลียนแบบการการทำงานหรือทำกิจกรรมของผู้ใหญ่
  • เล่นกับพ่อแม่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ สร้างพ่อแม่ที่มีอยู่จริงและลูกที่มีอยู่จริง (ลูกรับรู้ว่า 'ตนเองเป็นที่ต้องการและเป็นที่รักของพ่อแม่')

 

เมื่อถึงวัยที่ต้องเริ่มเรียนรู้เนื้อหาต่าง ๆ และสถานที่ให้เขาปล่อยพลังอย่างเหมาะสมได้หรือไม่ ในเด็กเล็กจึงไม่ควรนั่งเรียนในห้องเรียน แต่เขาควรออกไปวิ่งเล่นและเรียนรู้

 

 

▶︎ การอ่าน พ่อแม่อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง และใช้เวลากับการอ่านหนังสือกับลูกในทุก ๆ วัน สม่ำเสมอ การรักการอ่าน ได้สอนเด็ก ๆ ให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และแสวงหาความรู้ได้อย่างไม่รู้จบ

 

 

▶︎ การตั้งคำถามในสิ่งสงสัย "การสังเกตธรรมชาติและสิ่งรอบตัว" พ่อแม่ชี้ชวนให้ลูกสังเกตสิ่งรอบตัวเสมอ แม้จะอยู่บ้านเราก็สามารถสังเกตปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตหลายอย่างได้

 

"ความสงสัยใคร่รู้" เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับนิสัยการเป็นนักเรียนรู้โดยธรรมชาติ พวกเขาสงสัยอยากรู้อยากเห็นในทุก ๆ เรื่อง แต่ด้วยบริบททางสังคมหรือความคาดหวังของผู้ใหญ่บางประการที่ทำให้ความอยากเรียนรู้นั้นค่อย ๆ หายไป ถ้าเราไม่ชอบเด็กที่ตั้งคำถามหรืออยากรู้อยากเห็นในเวลาที่ไม่เหมาะสม เราควรสอนเรื่องกาลเทศะให้กับเขา แต่ไม่ใช่ห้ามเขาสงสัย

 

 

▶︎ ผู้ใหญ่รอบตัวเด็กต้องเป็นแบบอย่างในเรื่องของการรักการเรียนรู้ให้กับเขา ผู้ใหญ่ต้องจัดสรรเวลาคุณภาพให้กับเด็ก ๆ เสมอ

 

  • อยากให้ลูกรักการอ่าน...เราต้องอ่านหนังสือกับเขา
  • อยากให้ลูกรักการเรียนรู้...เราต้องไม่ห้ามเขาสงสัย
  • อยากให้ลูกไม่ยอมแพ้เมื่อไม่ได้คำตอบ...เราต้องไม่ยอมแพ้ และหาคำตอบไปด้วยกันกับเขา
  • อยากให้ลูกเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง...เราต้องสอนทักษะการค้นหาความรู้ อย่ารีบตอบคำถามเขา ได้แก่ ตั้งคำถาม สืบค้น และทดลองไปกับเขา
  • อยากให้ลูกเรียนรู้อย่างยั่งยืน...เราต้องไม่ตัดสินลูกด้วยคะแนนสอบหรือลำดับที่ที่ได้มา

 

 

▶︎ การเรียนรู้ควรไม่สิ้นสุดแค่เรียนจบ การเรียนรู้ไม่ควรถูกนำมาผูกมัดกับผลคะแนนใด ๆ เด็กควรเรียนรู้ เพราะเขาอยากรู้ ไม่ใช่เพราะเขาอยากได้คะแนนเต็ม ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นกับเด็กที่อยากรู้ คือ เขาจะเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด

 

คำถาม “แล้วจะทำอย่างไรดีเพื่อจะวัดได้ว่า เด็กเข้าใจหรือรู้เรื่องนี้จริง ๆ”
คำตอบ "เราสามารถประเมินเด็กได้ โดยไม่ใช้การสอบหรือการให้คะแนน เช่น ใช้การทำกิจกรรมประเมิน,ใช้การทำโครงงาน (Project based learning) มีการประเมินหลายวิธีที่ไม่ต้องใช้การสอบวัดผล

 

 

ทั้งนี้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกในโรงเรียนที่ใช้การสอบวัดผล ไม่ต้องวิตกไป เพียงแค่เราให้การสนับสนุนลูกในสิ่งที่เขาสนใจ และให้เขาเรียนรู้ตามวัยของเขา เด็กจะไม่วิตกกังวลถึงผลสอบหรือการวัดผลนั้นจนเกินไป เพราะสำหรับเด็ก ๆ แล้ว เขาสนใจเพียงแค่สายตาของพ่อแม่ที่มองเขา มากกว่าสายตาคนอื่น

 

ดังนั้นช่วยลูกได้ในงานที่เกินวัยลูก อย่าให้ความสำคัญกับคะแนนสอบลูกมากกว่าวันนี้ลูกเราได้เรียนรู้อะไร และเรียนรู้อย่างมีความสุขไหม ก็เพียงพอแล้ว เกณฑ์สำหรับเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) เน้น “เล่นให้มากพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ อ่านนิทานให้เขาฟัง ทำงานบ้าน และช่วยเหลือตัวเองเป็น” เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

 

ดังนั้นผู้ใหญ่ควรสร้างเด็กที่รักการเรียนรู้ ก่อนเด็กที่สอบได้คะแนนดี และควรให้เด็กได้ลงมือทำ นำไปใช้จริง มากกว่าเรียนไปเพื่อใช้วัดผลเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อเด็กเข้าใจและรักการเรียนรู้แล้วนั้น เขาจะอยากเรียนรู้ และจะเรียนรู้ได้ตลอดไป

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง