5138
ความคิดสร้างสรรค์เด็กไทยที่หายไป !

ความคิดสร้างสรรค์เด็กไทยที่หายไป !

โพสต์เมื่อวันที่ : September 18, 2020

...“Imagination is more important than knowledge. For knowledge is limited, whereas imagination embraces the entire world, stimulating progress, giving birth to evolution.”... Albert Einstein

ประโยคคลาสสิคของอัลเบิร์ต อัลสไตน์ ที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นคำฮิตติดปากว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” และเป็นประโยคที่สะท้อนว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับความเป็นมนุษย์

 

ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นโดยการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกหรือ ระบบลิมบิก (Limbic System) เป็นสมองส่วนที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสิน ไม่ยึดติดกฎเกณฑ์ สมองส่วนนี้จะทำงานได้ดีเมื่อยังเป็นเด็ก แต่เมื่อเริ่มโตขึ้น สมองส่วนเหตุผลและกฎเกณฑ์ (Cerebral Cortex) ก็จะเติบโต และควบคุมระบบลิมบิก ทำให้มีเหตุผล มีกฎเกณฑ์ ยึดประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติแทน

 

 

จริง ๆ แล้วความคิดสร้างสรรค์ในคนเรามีติดตัวมาแต่กำเนิด จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การรับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ พื้นฐานสำคัญทางความคิด เพราะความรู้สึกต่าง ๆ ที่ได้รับจะถูกลำเลียงส่งไปยังเซลล์ประสาทที่อยู่ในสมอง เมื่อสมองทำการจัดลำดับความสำคัญ ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกบันทึกไปยังส่วนความจำ และถูกนำไปใช้ในอนาคต

 

ฉะนั้น "ความคิดสร้างสรรค์" ต้องได้รับการกระตุ้นตั้งแต่เล็ก เด็กต้องเรียนรู้อย่างมีความสุขและเป็นอิสระ ไม่ใช่ถูกบังคับ เพราะการถูกบังคับเป็นการปิดกั้นโอกาสทางความคิด สอดคล้องกับ Sir Ken Robinson นักวิชาการด้านการศึกษาระดับโลก ได้กล่าวถึงความคิดสร้างสรรค์ว่า

 

...“เด็กทุกคนกล้าที่จะลอง ถึงแม้ไม่รู้ แต่พวกเขาก็จะลองดู นั่นก็หมายความว่าเด็กไม่กลัวที่จะทำผิด และถ้าหากทำผิด แต่ไม่พร้อมยอมรับการกระทำที่ผิดพลาด เราก็จะไม่มีวันสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ขึ้นมาได้ และความกลัวต่อการผิดพลาดเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังมา โดยเรามักจะมองว่าการทำผิดเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ในระบบการศึกษาก็เช่นเดียวกัน เด็กที่ทำข้อสอบหรือตอบคำถามครูไม่ได้เป็นเรื่องที่เลวร้าย อีกทั้งเด็กยังต้องทำและเรียนในสิ่งที่ครูอยากให้รู้ ซึ่งเด็กอาจจะไม่อยากรู้หรือไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ หรือทำไมเราจึงไม่ให้เด็กเรียนเต้นรำทุกวันเหมือนที่เรียนคณิตศาสตร์ ความรู้ทางคณิตศาสตร์มีความจำเป็น แต่การเต้นรำก็มีความสำคัญ เช่นเดียวกับความคิดสร้างสรรค์ ทักษะที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อการศึกษาพอ ๆ กับการรู้หนังสือ”...

 

และนั่นหมายความว่า เมื่อวัยเด็กทุกคนล้วนมีความคิดสร้างสรรค์ แต่เมื่อเด็กเติบโตขึ้นมามีตัวแปรมากมายที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์อาจหล่นหายไประหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเลี้ยงดู การสร้างสภาพแวดล้อม ระบบการศึกษา วิธีการเรียนรู้ ฯลฯ ล้วนแล้วมีส่วนทั้งนั้น

 

ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เด็กถูกสอนให้เรียนรู้ในระบบการศึกษาตามกรอบที่คุณครูอยากให้รู้ ในขณะที่ตอนนี้การศึกษาของเรากำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 หนึ่งในทักษะที่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับเด็กในยุคนี้และยุคหน้าก็คือ เรื่องความคิดสร้างสรรค์

 

 

ระบบการศึกษาในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่เน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นให้เด็กมีทักษะการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเป็นที่มาของทิศทางในการจัดการศึกษาใหม่ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้

 

เด็กและเยาวชนควรมีโอกาสได้ฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ โดยมีพ่อแม่และครูเป็นผู้ช่วยส่งเสริมให้เด็กสามารถริเริ่มสร้างสรรค์ความคิดใหม่ ๆ ได้เอง ผ่านการเรียนรู้ทั้งที่บ้านและโรงเรียน ไม่ใช่ใช้วิธีอัดแน่นหรือยัดเยียดข้อมูลความรู้ผ่านการสอนเข้าไปสู่สมองของเด็ก โดยไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญต่อความคิดสร้างสรรค์

 

ที่ผ่านมาเด็กนักเรียนในบ้านเรามักจะถูกสอนเสมอว่า เรียนให้หนัก ทำข้อสอบให้ได้ เกรดเฉลี่ยต้องดี สอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ และต้องหางานทำดี ๆ ได้เงินเดือนเยอะ ๆ แต่ปัจจุบันก็พิสูจน์แล้วว่าเส้นทางชีวิตของคน ๆ หนึ่งที่มุ่งเน้นแต่เรื่องวิชาการอย่างเดียว ก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าเขาจะประสบความสำเร็จในชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมากสำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21

จริงอยู่ว่าเราต้องเริ่มต้นตั้งแต่เด็กยังเล็ก โดยพ่อแม่ต้องร่วมมือกับโรงเรียนในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ถ้าลูกโตแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าต้องปล่อยไปตามยถากรรม ผู้ใหญ่ยังสามารถมีส่วนต่อการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กและเยาวชนได้

วิธีส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เด็ก

✚ 1. พ่อแม่ต้องพยายามคิดนอกกรอบ ✚ ต้องเริ่มจากพ่อแม่ก่อนเพื่อแสดงให้ลูกเห็นว่าความคิดคนเรามีได้หลากหลาย ในเรื่อง ๆ หนึ่งสามารถคิดได้หลากหลายรูปแบบ ถ้าพ่อแม่พยายามฝึกฝนบ่อย ๆ ก็จะเป็นแบบอย่างทางตรงให้กับลูก ตัวพ่อแม่เองจะต้องฝ่าความเคยชินเดิม ๆ ที่ติดตัวมาให้ได้

 

✚ 2. หมั่นตั้งคำถาม ✚ การหมั่นตั้งคำถามบ่อย ๆ ถามลูกทุกช่วงวัย และสม่ำเสมอจะช่วยให้เด็กได้ฝึกคิด แล้วพ่อแม่ก็จะได้เห็นพัฒนาการทางด้านความคิดของลูกด้วย เมื่อเข้าสู่รั้วโรงเรียน คุณครูต้องมีวิธีการตั้งคำถามให้น่าสนใจ ควรเน้นเป็นคำถามปลายเปิดที่สามารถฝึกให้เด็กได้คิด

 

✚ 3. เปิดโอกาสให้ลองสิ่งใหม่ ✚ พ่อแม่มักไม่รู้ตัวว่ามีส่วนอย่างยิ่งในการปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้ของลูก เพราะมักจะคิดหรือทำแทนลูก เลยทำให้ลูกเสียโอกาส สิ่งที่ควรทำคือการสนับสนุนให้ลูกได้ทดลองสิ่งใหม่ โดยมีพ่อแม่คอยดูแลเรื่องความปลอดภัยและช่วยสนับสนุนในสิ่งที่ลูกกำลังเรียนรู้ เมื่อเข้าสู่รั้วโรงเรียน คุณครูก็ต้องมีเทคนิคการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลอง ได้คิดสิ่งใหม่ หรือได้แสดงความคิดเห็นจินตนาการของเขา โดยไม่ไปปิดกั้นการเรียนรู้

 

✚ 4. สร้างสถานการณ์ให้แก้ปัญหา ✚ ฝึกสร้างสถานการณ์ให้ลูกได้แก้ปัญหา เริ่มจากง่าย ๆ แล้วค่อยเพิ่มระดับความยาก การฝึกแก้ปัญหาเป็นขั้นสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ และเมื่อเกิดปัญหาแล้วเชื่อว่ามีหนทางแก้ไข ซึ่งสิ่งเหล่านี้จู่ ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง ต้องได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เล็ก ซึ่งนอกจากเป็นเรื่องของพ่อแม่แล้ว ระบบการศึกษาในโรงเรียนก็มีความสำคัญอย่างมาก ในการนำเทคนิคการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กฝึกทักษะแก้ปัญหา

 

ทุกวันนี้ ผู้คนมักถามหาคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ บริษัทอยากได้พนักงานและผู้บริหารที่มีความคิดสร้างสรรค์ ประเทศอยากเป็นได้สังคมแห่งความคิดสร้างสรรค์

 

...“ที่ผ่านมาเรามักหวังแค่ “ผลลัพธ์” แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญถึง “กระบวนการ” ให้ได้มา”...