931
ตอนที่ 2 สั่งสอนลูกโดยไม่เสียสัมพันธภาพ

ตอนที่ 2 สั่งสอนลูกโดยไม่เสียสัมพันธภาพ

โพสต์เมื่อวันที่ : August 30, 2020

ทักษะการสื่อสาร

❤︎ 2. สลับเป็นผู้ฟัง หลังจากพูดเสร็จ ❤︎

 

เมื่อพ่อแม่สอนลูก อธิบายเหตุผลในมุมมองของตนเองแล้ว ถึงตอนนี้ก็ต้องสลับมาเป็นผู้ฟังบ้าง พ่อแม่ต้องรู้จักหยุดความคิดตัวเอง ฝึกทักษะการฟัง เด็ก ๆ ต้องการเวลาในการย่อยข้อมูลของพ่อแม่ อีกทั้งยังต้องการเวลาเพื่อสำรวจความต้องการของตนเองด้วย

 

ในช่วงเวลานี้ เด็กอาจแสดงท่าทีนิ่งเงียบหรืออาจเถียงก็ได้ ขึ้นอยู่กับทักษะการจัดการอารมณ์ แต่พ่อแม่ไม่มีหน้าที่เถียงกับลูกนะคะ หากลูกเงียบก็ให้เวลาเขา หากลูกเถียงก็ต้องพยายาม “ฟังดี ๆ” ฟังว่า ลูกกำลังต้องการอะไรและรู้สึกอะไร อย่าเถียงกลับเด็ดขาด ผู้ฟังที่ดีจะใช้เวลานี้อ่านใจลูกและประมวลเข้ากับคำพูดของลูก เพื่อทำความเข้าใจลูกจริง ๆ

หากอ่านได้ว่าลูกหงุดหงิดในสิ่งที่พ่อแม่สอน เพราะขัดแย้งกับความต้องการของเขา เช่น ลูกอยากเป็นนักกีฬามาก แต่เมื่อพ่อแม่เรียกให้ฝึกซ้อม ลูกกลับโกรธบอกว่า “อยากพัก” ทำยังไม่ก็ไม่ไป พ่อแม่ต้องไม่โกรธกลับ แต่ควรพยายามอ่านความรู้สึกนึกคิดของลูก

 

ควรถามว่า ...“ลูกรู้สึกเหนื่อยจากการฝึกซ้อม เพราะซ้อมมากไปหรือเปล่า หรือเหนื่อยจากเรื่องอะไร ?”... เมื่อไรก็ตามที่พ่อแม่อยากเข้าใจลูก เราจะมีคำถามที่ใส่ใจลูกทันที แต่หากพ่อแม่อยู่กับความคิดตนเอง อยากให้ลูกซ้อมเยอะ ๆ ไม่อยากรู้สิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ความหงุดหงิดของลูก พ่อแม่จะโกรธกลับ เพราะคิดว่าลูกขี้เกียจ

พ่อแม่ที่อยากรู้ว่าลึกๆลูกเป็นอะไร ท่าทางจะไม่โกรธ ลูกก็จะผ่อนคลาย,ไม่รู้สึกกดดันค่ะ ทำให้มีสมาธิในการคิดทบทวนว่า อะไรทำให้เหนื่อยจนไม่อยากซ้อม ถ้าลูกตั้งสติคิดวิเคราะห์จริง ๆ ลูกจะได้คำตอบ เช่น เขารู้สึกเหนื่อยและท้อ เพราะไม่เห็นว่าการซ้อมมาก ๆ จะช่วยพัฒนาอะไร เขารู้สึกไม่เก่งสักที

 

(พ่อแม่ควรรับรู้ไว้ว่า เด็กหลายคนไม่สามารถคิดหาสาเหตุได้เอง จนกว่าจะมีคนถามให้คิด และเด็กหลาย ๆ คน การพูดระบาย โดยมีคนรับฟังอย่างไม่ตัดสิน จะทำให้เขาเห็นตนเองมากขึ้น ก็ช่วยให้เข้าใจตนเองมากขึ้นด้วย)

ประโยชน์ที่ได้หากพ่อแม่ฝึกทักษะการฟัง

✔︎ พ่อแม่จะตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อลูก

✔︎ ลูกได้รับโอกาสในการคิดทบทวน จึงเข้าใจสาเหตุที่แท้จริง  

✔︎ ลูกรู้สึกปลอดภัยในการสื่อสาร ทำให้กล้าระบายความในใจ

✔︎ เด็กที่ไม่ค่อยคิดทบทวน จะได้คิดและการพูดต่อเนื่อง จะช่วยให้เข้าใจตนเองมากขึ้น

✔︎ สัมพันธภาพระหว่างกันเหนียวแน่นขึ้น

 

ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ลูกอยากแก้ไขปัญหาจริง ๆ และสามารถแก้ไขได้ตรงจุดเพราะวิเคราะห์อย่างมีสติมาแล้ว สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ลูกแน่นแฟ้นขึ้น เพราะเราเข้าใจในยามที่ลูกกำลังทุกข์จริง ๆ การโกรธและบังคับก็จะไม่เกิดขึ้น หมอเชื่อว่า เมื่อทราบว่าลูกไม่ไปซ้อมเพราะท้อใจ พ่อแม่คงไม่โกรธ แต่จะเปลี่ยนเป็น ให้กำลังใจลูกแทน และหาทางออกที่เหมาะสมสำหรับการซ้อมในวันนี้ได้

 

...“สอนลูกแล้ว ต้องสลับมาเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยนะคะ”...

 

 

อ่านต่อตอนที่ 3 สั่งสอนลูกโดนไม่เสียสัมพันธภาพ (พูดสะท้อนความรู้สึก แสดงออกว่าพ่อแม่เข้าใจ)