917
รักกันได้ ไม่ต้องฝืน

รักกันได้ ไม่ต้องฝืน

โพสต์เมื่อวันที่ : July 15, 2020

อาจมีอยู่หลายครอบครัวที่คอยพร่ำบอกให้พี่น้อง “ต้อง” รักกัน “เป็นพี่นะ ต้องรักน้อง” “เป็นน้องนะ ต้องรักพี่” แต่ด้วยเพียงแค่ประโยคคำสั่ง คงยากที่จะทำให้เด็ก ๆ เข้าใจและรู้สึก “รักกัน” ได้จริง ๆ เพราะความรักนั้น “ฝืน” กันไม่ได้

 

ในวัยเด็ก การที่พี่น้องทะเลาะกันถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา แย่งของเล่นกัน เถียงกัน โกรธกัน งอนกันตามวิสัยของเด็ก แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้พี่น้องไม่เกลียดกัน หรือคิดใช้ความรุนแรงเข้าทำร้ายกัน ถึงแม้จะโกรธหรือทะเลาะกันมากสักแค่ไหน แต่การกระทำของคุณพ่อคุณแม่เองนี่แหละที่จะสร้าง “ความรักความผูกพัน” ให้เกิดขึ้นในใจของทั้งพี่และน้อง

 

ได้ยินแบบนี้ อย่าเพิ่งถอนหายใจ มองบนกันนะครับ ผมมีเทคนิคดี ๆ ที่ได้ทดลองทำเองแล้วเวิร์ค มาบอกต่อกัน ซึ่งแน่นอนครับว่าไม่ยากเกินไป เพียงแค่ต้องอาศัยเวลา และทำอย่างเป็นธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีการบังคับขัดใจลูกแน่นอนครับ

แบ่งปันเทคนิคดี ๆ "รักกัน ไม่ต้องฝืน"

✚ ข้อแรก ให้พี่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพ่อแม่ดูแลน้อง ✚

เราเตรียมกันตั้งแต่ก่อนคลอดเลยยิ่งดีครับ อย่างบ้านเราจะมีตุ๊กตาน้องคิวพี ตัวประมาณเท่าทารกแรกเกิดพอดี ๆ เอามาให้คูเป้อร์อุ้มเล่นในช่วง 2-3 เดือนก่อนที่น้องจะคลอด โดยเฉพาะวันที่คลอด บ้านเราไปนอนที่โรงพยาบาลด้วยกันทั้งครอบครัวเลย ซึ่งพี่คูเป้อร์ก็จะเอาตุ๊กตาน้องคิวพีติดไปซ้อมอุ้มซ้อมกอดด้วย และพอน้องออกมา ก็ไม่พลาดที่จะให้พี่ชายได้ลองอุ้มจริง ๆ ด้วยเช่นกัน หลังจากกลับบ้านก็จะให้พี่ชายเป็นผู้ช่วยแม่ คอยดูน้องในบางจังหวะเป็นช่วงสั้น ๆ เช่น ตอนคุณแม่ไปเข้าห้องน้ำ หรือเดินไปหยิบของ เป็นต้น

 

✚ ข้อสอง พ่อแม่เป็นตัวแทนของน้อง ในการบอกรักพี่ ✚

พอดีว่าน้องเลล่าชอบยิ้มให้พี่ชายบ่อย ๆ พ่อเบียร์กับแม่เคทจะพยายามอุ้มน้องเข้าไปหอมแก้ม เข้าไปกอดพี่ชาย แล้วพูดแทนน้องว่า “น้องเลล่ารักพี่เป้อร์นะ” ซึ่งตัวพี่คูเป้อร์เองก็จะกอดแล้วบอกรักน้องกลับด้วยเช่นกัน ซึ่งเทคนิคนี้พอใช้บ่อย ๆ โดยให้น้องสาวบอกรักพี่ชายทุกวัน ก็ส่งได้ผลในระยะยาว กลายเป็นว่าพอตื่นนอนกันปุ๊บ พี่ชายจะมาขอหอมแก้มน้องสาวก่อนออกไปเล่นทุกเข้า และมีอีกหลาย ๆ ครั้งที่พี่ชายจะพูดขึ้นมาด้วยตัวเองว่า “พี่เป้อร์ดีใจที่มีน้องเกิดมานะ” ซึ่งทำให้ทั้งตัวผมและแม่เคทชื่นใจทุกครั้งที่ได้ยิน

✚ ข้อสาม สร้างความประทับใจด้วยการมี "เวลาคุณภาพ" ✚

จะเที่ยวด้วยกัน เล่นด้วยกัน กอดฟัดกัน นอนห้องเดียวกัน ได้หมด ลองคิดดูครับว่าขนาดผู้ใหญ่ที่โต ๆ กันแล้ว หากมีโอกาสได้ไปเที่ยวทริปเดียวกัน ร่วมกิน ร่วมเดินทาง พักที่พักเดียวกัน แค่เพียงช่วงสั้น ๆ ไม่กี่วัน ยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ให้สนิทสนมกันได้ภายในเวลาไม่กี่คืน แล้วพี่น้องที่มีเวลาคุณภาพด้วยกันมาตั้งแต่เด็กจะไม่มีความรู้สึกผูกพันกันได้ไง จริงไหมครับ

 

..."อ่อ .. แล้วอย่าลืมบันทึกภาพโมเมนท์ดี ๆ เอาไว้ด้วยนะครับ"...

 

แหม่...มือถือสมัยนี้ มีกล้องคุณภาพดี ๆ ในตัวแทปทุกรุ่น มีจังหวะไหนดี ๆ ก็หยิบขึ้นมาถ่ายไว้ได้เลยทันที หรือจะโพสเก็บไว้บนเฟสบุคเพจ เอาไว้ให้สมาชิกในครอบครัวได้เข้ามาดูในเวลาที่คิดถึงกันบ้าง หรือว่าง ๆ ก็เอามาเปิดดูกันทั้งครอบครัว พร้อมทั้งเล่าความประทับใจในโมเมตท์นั้น ๆ ให้ลูกได้ฟังด้วย ไม่ต้องออกแนวซาบซึ้งอะไรก็ได้ครับ 

 

อย่างบ้านมนุษย์ลูกนี่มาแนวเฮฮาเสียส่วนมาก ดูไปขำไปกันทั้งครอบครัว เป็นการสร้างความทรงจำที่ดีร่วมกัน รวมถึงสร้างเวลาคุณภาพในครอบครัวไปด้วยอีกทาง หรือจะอัดเอาภาพที่ประทับใจมาก ๆ ออกมาใส่กรอบ วางไว้ตามจุดต่าง ๆ ของบ้านก็ยิ่งดีครับ

✚ ข้อสี่ ทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง และรักทั้งพี่ทั้งน้องให้มาก ๆ ✚

ซึ่งจะเท่ากันหรือเปล่า อันนี้ก็ยากที่จะชั่งตวงวัดได้ แต่ผมเองก็มองว่าจะรักเท่ากันหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ เพียงแค่รักลูกให้มาก ๆ รักให้เค้ารู้สึกเต็มเปี่ยมในหัวใจของลูกทุกคน และเมื่อลูกแต่ละคนได้รับความรักที่เพียงพอ แล้วเค้าก็จะเผื่อแผ่ความรักมาไปสู่พี่น้องโดยอัตโนมัติ

 

ผมขอเสริมสิ่งต้องระวังแถมท้ายอีกสักนิด คือคำพูดที่ว่า “เป็นพี่จะต้องเสียสละให้น้อง” เพราะการเสียสละนั้นจะเป็นสิ่งที่ดี ก็ต่อเมื่อทำแล้วผู้ที่เสียสละมีความสุขใจ ไม่ใช่เสียสละแล้วตัวเองกลับเป็นทุกข์ซะงั้นครับ สิ่งที่ควรจะเป็นคือ เจ้าของย่อมมีสิทธิ์ในสิ่งนั้นก่อน อีกทั้งเจ้าของมีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ถึงแม้จะได้รับการร้องขอแล้วก็ตาม ส่วนผู้ขอก็ควรที่จะเรียนรู้ที่จะอดทนรอใหได้ ไปจนถึงเรียนรู้ที่จะผิดหวังถ้าเจ้าของไม่แบ่งให้ ถือเป็นการฝึก EF ที่ดีไปในตัวด้วยครับ

 

..."ความรัก" ของหนุ่มสาวไม่สามารถได้มาจากการร้องขอฉันใด การที่พี่น้องจะรักกันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่เองฉันนั้นครับ"...