1055
ช่วยลูกเข้าใจและจัดการความรู้สึกตนเอง

ช่วยลูกเข้าใจและจัดการความรู้สึกตนเอง

โพสต์เมื่อวันที่ : May 27, 2020

ตอนที่ 5

ช่วยลูกเชื่อมโยงโลกภายนอกกับโลกภายในตนเอง

 

 

เมื่อพ่อแม่พยายามเข้าใจลูก เราได้ช่วยให้ลูกเชื่อมโยงโลกภายนอกกับโลกภายในของเขาด้วยนะคะ

เด็กเชื่อมโยงได้ว่า พฤติกรรมของตนเองมาจากความรู้สึกที่ซุกอยู่โลกภายใน

 

พฤติกรรมหวงของทั้งที่บ้านและโรงเรียนของเด็กชายบี(ในตอนที่3)นั้น มาจากความรู้สึกต่อต้านพ่อแม่ที่ใช้อารมณ์ลงโทษหลายครั้ง เด็ก ๆ อาจไม่เข้าใจความรู้สึกเหล่านี้ชัดเจน อาจรู้แค่ว่าไม่อยากให้, ไม่อยากแบ่ง แต่ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว มาจากภายในใจที่มีความโกรธและน้อยใจพ่อแม่อยู่ด้วย

 

เมื่อพ่อแม่พูดแสดงความเข้าใจลูก ก็จะช่วยให้ลูกเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ เช่น ...“ลูกน้อยใจที่แม่มักต่อว่าลูกเรื่องนี้ใช่มั้ยจ้ะ”... ลูกจะคิดตาม และค่อย ๆ เห็นภาพในสมองว่า เป็นจริงอย่างที่แม่พูด หรือประโยคที่ว่า ...“บางทีลูกก็รู้แหละว่า แม่แบ่งเท่ากัน แต่เพราะโกรธแม่อยู่ก็เลยไม่ยอมฟัง ใช่มั้ยจ้ะ”...

 

เมื่อพ่อแม่ยอมรับว่าตนเองเป็นต้นเหตุ และพูดเชื่อมโยงว่าสิ่งที่พ่อแม่ทำมีผลต่อลูกด้วย ลูกจะเข้าใจตนเองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และหากพ่อแม่หมั่นแสดงความเข้าใจลูกบ่อย ๆ สมองลูกจะรู้จักคิดเชื่อมโยงเองในที่สุด สามารถรู้ว่าพฤติกรรมของตนเองนั้น แท้จริงแล้วก็มาจากความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ข้างใน นั่นเอง

 

เด็กเชื่อมโยงได้ว่า พฤติกรรมของคนอื่นมีผลต่อโลกภายในตนเอง

ส่วนใหญ่เด็กจะเชื่อมโยงได้ว่าพฤติกรรมของคนอื่นมีผลต่อพฤติกรรมของตนเอง โดยไม่สังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นกับความรู้สึกข้างใน เช่น น้องยอมพี่ทุกครั้งที่พี่แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด ถ้ามองระดับพฤติกรรม, การยอมของน้อง เกิดจากความรุนแรงของพี่ แต่หากเรามองในระดับลึกถึงโลกภายใน พฤติกรรมยอมนั้นมาจาก ความรู้สึกกลัวและกังวลใจ ส่งผลให้จำใจยอมแม้จะไม่อยากยอม ก็ตาม

 

..."การที่พฤติกรรมของคนอื่นมีผลต่อพฤติกรรมเรานั้น จริง ๆ แล้ว มันมีผลต่อโลกภายในของเราก่อน แล้วค่อยกระตุ้นให้เราแสดงพฤติกรรมตอบสนองออกมา"...

เราจำเป็นต้องเข้าใจลำดับขั้นตอนตรงนี้ เพราะเหตุการณ์ที่กระทบโลกภายในของเรา จะไปกระตุ้นความรู้สึกเก่า ๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ให้ออกมาร่วมด้วย บ่อยครั้งที่ความรู้สึกเก่า ๆ เสริมแรงเชิงลบให้เกิดการตอบสนองที่รุนแรงขึ้น เช่น ในช่วงที่แม่พยายามแบ่งขนมให้พี่และน้องเท่า ๆ กัน แต่บีกลับส่งเสียงโวยวาย ไม่ยอมน้องเด็ดขาด

 

หากมองระดับพฤติกรรมจะเห็นความไม่สมเหตุสมผล เพราะขนมที่ถูกแบ่งนั้นเท่ากัน แต่ถ้ามองระดับลึกถึงโลกภายใน เราจะเห็นเหตุผลที่เข้าใจได้ เสียงร้องโวยวายนั้นสะท้อนความรู้สึกไม่ยุติธรรม, น้อยใจ, และโกรธพ่อแม่ ซึ่งสะสมมานานแล้ว

 

..."ที่บีโวยวายนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการแบ่งขนมครั้งนี้เท่านั้น มีความรู้สึกเก่า ๆ จากเหตุการณ์คล้าย ๆ กันโผล่เข้ามาร่วมผสมโรงด้วย ถ้าพ่อแม่เข้าใจ ก็จะช่วยลูกได้ถูกทาง จะไม่มองว่าลูกเป็นเพียงเด็กดื้อหวงของเท่านั้น"...

เราจะเห็นว่าโลกภายในของคนเรานั้นมีความซับซ้อน มีทั้งความรู้สึกที่เกิดขึ้นใหม่ และความรู้สึกเก่า ๆ ที่สะสมมานาน ถ้าพ่อแม่สามารถช่วยลูกเชื่อมโยงโลกภายนอกกับโลกภายในอย่างสม่ำเสมอ สลับไปมาทั้งพฤตกิรรมของตนเองที่มาจากความรู้สึกภายใน และความรู้สึกภายในที่มาจากพฤติกรรมของคนรอบตัว จะทำให้ลูกละเอียดอ่อนจนสามารถเข้าถึงและเข้าใจความรู้สึกตนเองได้ในที่สุด

 

การเชื่อมโยงโลกภายในกับโลกภายนอก ยังช่วยให้ลูกมองเห็นภาพใหญ่ของเหตุการณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนรอบข้าง ความเข้าใจนี้จะช่วยให้ลูกจัดการปัญหาต่าง ๆ รอบคอบขึ้น ขอเพียงเข้าใจตนเองแล้วจัดการใจให้สงบก่อน เมื่อมีสติแล้ว ก็จะแก้ไขปัญหาได้อย่างมีวิจารณญาณ

 

 ..."ไม่ว่าจะจัดการปัญหาในรูปแบบไหน ก็ต้องมาจากจุดเริ่มต้นที่เด็ก ๆ จะต้องรู้จักเข้าใจโลกภายในของตนเองที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอกก่อนค่ะ"...