153
สธ.เฝ้าระวัง "เชื้อสเตรปโตคอคคัส" เข้าไทย ยันไม่ใช่โรคอุบัติใหม่

สธ.เฝ้าระวัง "เชื้อสเตรปโตคอคคัส" เข้าไทย ยันไม่ใช่โรคอุบัติใหม่

โพสต์เมื่อวันที่ : April 2, 2024

 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิด A ในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ย้ำไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ โดยเชื้อมีหลายสายพันธุ์ และอาจแสดงอาการได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก ประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังการติดเชื้อนี้อยู่

 

สเตรปโตคอคคัส ชนิด A ไม่ใช่เชื้ออุบัติใหม่

 

เมื่อวันที่ (29 มี.ค.67) นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ โฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย "สเตรปโตคอคคัส ชนิด A" ไม่ใช่เชื้ออุบัติใหม่ เป็นเชื้อก่อโรคที่มีมานานแล้ว และมีหลายสายพันธุ์ก่อให้เกิดอาการแสดงของโรคได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงอาการรุนแรงและอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

 

ปัจจุบันโรคนี้อยู่ในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย เรียกว่า "โรคไข้อีดำอีแดง" ทำให้เกิดการติดเชื้อของคอหอย ต่อมทอนซิล และระบบทางเดินหายใจ เกิดได้ทุกช่วงอายุ แต่มักเป็นในเด็กวัยเรียน

 

ผู้ติดเชื้อจะมีอาการเจ็บคอ ปวดศีรษะ ไข้ และอาจมีผื่นนูนสาก ๆ ตามร่างกาย สัมผัสแล้วมีลักษณะคล้ายกระดาษทราย กลุ่มเสี่ยงของโรคจะเป็นเด็กวัยเรียนอายุ 5-15 ปี

 

 

จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี 2562 ถึงวันที่ 16 มี.ค.2567 พบผู้ป่วย 4,989 คน ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต

 

"สเตรปโตคอคคัส" อาการรุนแรง

 

นพ.วีรวัฒน์ ระบุว่า นอกจากก่อโรคระบบทางเดินหายใจแล้ว เชื้อนี้อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังที่อาจมีการลุกลามเร็วได้ ส่วนน้อยอาจมีอาการรุนแรง ส่วนเชื้อที่พบในประเทศญี่ปุ่นจัดอยู่ในกลุ่มอาการรุนแรง ซึ่งจะมีกลุ่มอาการย่อย ที่มีภาวะช็อกรุนแรงจากการติดเชื้อ โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสร้างสารออกมากระตุ้นทำให้เกิดภาวะช็อก หลอดเลือดขยายตัวรุนแรง

 

อาการรุนแรง มีรายงานในต่างประเทศ 100,000 ประชากร จะมีการติดเชื้อชนิดรุนแรง 3-4 คน กลุ่มนี้ร้อยละ 30-40 จะมีโอกาสเสียชีวิตได้ 1 ใน 100,000 ประชากร กลุ่มชนิดอาการรุนแรงที่ทำให้เกิดแบคทีเรียกินเนื้อ เกิดการอักเสบติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นลึกรุนแรง เกิดการอักเสบ ต้องมีการผ่าตัด นำหนองและเนื้อตายออก นอกจากนั้นก็จะมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด


สาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ

 

นพ.วีรวัฒน์ ระบุว่า โรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยการใกล้ชิดและหายใจรับละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อ หรือละอองเชื้อโรคสัมผัสกับตา จมูก ปาก หรือ สัมผัสผ่านมือ สิ่งของเครื่องใช้ ส่วนการติดเชื้อที่ผิวหนัง อาจจะเกิดจากการติดเชื้อจากบาดแผลไม่สะอาด ทำให้เกิดอาการอักเสบ มีผื่นบวมแดง การแพร่ระบาดหลักของเชื้อนี้ มาจากระบบทางเดินหายใจ และพบได้ทุกช่วงอายุ

 

มาตรการลดการแพร่ระบาด คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก

 

 

เฝ้าระวังเชื้อเสตรปโตคอคคัส ชนิด A ในญี่ปุ่น

 

โฆษกกรมควบคุมโรคระบุว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคของไทย ยังคงติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อเสตรปโตคอคคัส ชนิด A ในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนมีไข้ เจ็บคอ ร่วมกับมีผื่นสากนูน หรือตุ่มหนองที่ผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัย รักษา และแยกโรคอย่างถูกต้อง

 

สำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ ยังคงต้องรักษาสุขอนามัย รวมทั้งหากมีการระบาดหรือการเตือนภัยที่เป็นภาวะฉุกเฉินระดับนานาชาติ ซึ่งองค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้ประกาศ โดยกระทรวงสาธารณสุขของไทยจะยึดตามประกาศขององค์การอนามัยโลก และยกระดับเฝ้าระวัง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของโรค

 

ปกติจะมีเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคคัดกรองผู้โดยสารที่ผ่านเข้ามาทางด่านต่างๆของประเทศ หากพบอาการผิดปกติ มีไข้สูง จะติดตามอาการ

 

ที่มา : Thai PBS