37
การรับฟังที่ดี

การรับฟังที่ดี

โพสต์เมื่อวันที่ : July 3, 2022

การรับฟังที่ดีไม่ใช่เพียงแค่หูได้ยินเสียง แต่หมายถึงการนั่งลงข้าง ๆ ลูก แล้วหันไปมองให้เห็นนัยน์ตาของเขา จากนั้นเปิดใจรับฟังให้ได้ยินเสียงหัวใจของลูกด้วย ซึ่งการรับฟังที่ดีประกอบไปด้วย

 

❤︎ ข้อที่ 1 "รับฟังด้วยใจที่เป็นกลาง” ❤︎

อย่าเพิ่งตัดสินเขา บางครั้งเราอาจจะรู้จักลูกระดับหนึ่ง ทำให้เราใช้ความคุ้นเคยนั้นมาตัดสินตัวเขาในวันนี้ เช่น พ่อแม่อาจจะรู้ว่าลูกชอบแกล้งคนนู้นคนนี้ก่อน วันนี้ลูกมาเล่าว่าเขาทะเลาะกับน้องมา พ่อแม่อาจจะเผลอตัดสินเขาว่า เป็นเพราะลูกไปแกล้งน้องก่อนหรือเปล่า ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ได้ฟังเรื่องราวจากปากเจ้าตัวจนจบ ซึ่งการพูดเช่นนั้นออกไป ตัวลูกเองอาจจะไม่อยากเล่าต่อ หรือ เขาอาจจะรู้สึกว่า พ่อแม่โทษเขาก่อนเสียแล้ว ดังนั้นรับฟังสิ่งที่ลูกกำลังจะเล่า และอย่าเพิ่งตัดสินเขา

 

❤︎ ข้อที่ 2 “รับฟังจนจบ” ❤︎

อย่าเพิ่งพูดแทรก อย่าเพิ่งรีบตำหนิ หรือ สั่งสอน พ่อแม่ยังมีเวลาในการพูดในสิ่งที่เราต้องการสอนลูกหลังจากที่เขาพูดจบ แต่ถ้าหากเราไม่รับฟังลูกจนจบ เราอาจจะพลาดโอกาสรับฟังในสิ่งที่ลูกต้องการจะบอกไป

 

ท่องคำเหล่านี้ไว้ในเสมอ “ฟังก่อน ๆ” เมื่อลูกพูดจบ ให้เราถามกลับไปว่า “ลูกมีอะไรอยากจะบอกพ่อ/แม่เพิ่มไหม ?” เพื่อให้แน่ใจว่า เขาพูดจบจริง ๆ และสิ่งที่เขาต้องการจะบอกให้เราฟังมีเท่านี้

 

แต่ถ้าเรารู้สึกว่าลูกมีบางสิ่งในใจที่ยังไม่พูดออกมา เราไม่จำเป็นต้องบีบบังคับให้ลูกต้องพูดออกมาเดี๋ยวนี้ เพราะถ้าเด็ก ๆ มั่นใจว่า สิ่งที่เขาพูดออกไปก่อนหน้านี้ได้รับการรับฟัง และเราเป็นที่ปลอดภัยเพียงพอ เขาจะค่อย ๆ บอกออกมาเอง ดังนั้น ผู้ใหญ่มีหน้าที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเขา

  • เด็กบางคน อาจจะกล้าพูดออกมาตั้งแต่แรก
  • เด็กบางคน อาจจะลองดูท่าทีของเราก่อนจะกล้าพูดออกมาเมื่อคุยกับเราไปสักพัก
  • เด็กบางคน อาจจะลองดูว่าสิ่งที่เขาพูดออกไปนิดเดียว เรามีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง แล้วครั้งหน้าเขาถึงจะกล้ามาพูดกับเรา
  • เด็กบางคน คุยกับเราหลายครั้งกว่าที่จะพูดความในใจออกมา

 

หัวใจสำคัญสำหรับผู้ใหญ่ คือ “ความมั่นลง” “สม่ำเสมอ” “พูดคำไหนคำนั้น” และ “พร้อมรับฟัง” ไม่ว่าเด็กจะมาหาเราครั้งแรกหรือครั้งที่เท่าไหร่ เราตอบสนองกลับไปแบบเดิมเสมอ นั่นคือการบอกให้เด็กรับรู้ว่า “เราไว้ใจได้” และ “เรามั่นคงปลอดภัย” เพราะ การพูดถึงปัญหา หรือสิ่งที่เขาทำไม่ได้ คือ การเผยมุมที่เขาอ่อนแอหรือมุมที่เขารู้สึกว่าตัวเขาไม่ดีออกมา

 

ดังนั้นหากเด็กไม่รับรู้ว่า เรายอมรับและยินดีที่จะช่วยเขาจากใจ เขาจะไม่กล้าเผยมุมนี้ออกมาให้เราเห็น ทุกการรับฟังและการพูดคุย “ขอบคุณลูกที่ไว้ใจพ่อ/แม่” และยอมเล่าให้พ่อ/แม่ฟัง เพราะก้าวแรกของความไว้ใจ จะนำไปสู่ก้าวต่อไป ๆ

 

❤︎ ข้อที่ 3 “รับฟังเพื่อเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง” ❤︎

แม้ว่า การแก้ปัญหาทันที อาจจะดูทันใจพ่อแม่มากกว่า แต่บ่อยครั้งการแก้ปัญหาทันที อาจจะทำให้เราพลาดบางสิ่งที่สำคัญไป และบางครั้งปัญหาที่เรานึกว่าแก้ได้แล้ว อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริงด้วยซ้ำ

 

ปัญหาบางอย่างถ้าเราด่วนสรุปไปแล้ว อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสในการรู้ปัญหาที่แท้จริงของลูกไป เช่น เมื่อเด็กคนหนึ่งบอกว่า “ไม่อยากเรียนแล้ว” ผู้ใหญ่อาจจะตัดสินว่า เด็กคนนี้ไม่ตั้งใจเรียน ทั้ง ๆ ที่ปัญหาที่แท้จริงอาจจะเกิดจากการที่...

  • 1. เขามีปัญหากับการเรียนรู้ ทำให้ไม่เข้าใจในบทเรียนนั้น
  • 2. บทเรียนนั้นยากเกินวัยของเขาไปมาก ทำให้เขาไม่เข้าใจบทเรียนนั้น
  • 3. เขามีปัญหาอื่น ๆ ที่รบกวนการเรียนของเขา เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน เขาทะเลาะกับเพื่อน และอื่น ๆ

สาเหตุมากมายที่สามารถทำให้เด็กพูดออกมาว่า “เขาไม่อยากเรียน” แต่ผู้ใหญ่จะไม่มีทางรู้เลยหากเราไม่แม้แต่จะรับฟังเขา เมื่อเราพลาดไป แทนที่เขาจะได้รับความช่วยเหลือได้ทันท่วงที จากปัญหาไม่อยากเรียน อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาทางจิตใจ เช่น ตัวฉันไม่ได้เรื่อง ตัวฉันไม่ดีพอ และตัวฉันพยายามเท่าไหร่ก็คงไม่มีใครเข้าใจ ที่น่ากังวลไปกว่านั้น คือ เมื่อปัญหาเล็ก ๆ ไม่ได้รับการรับฟัง เมื่อเกิดปัญหาใหญ่ในอนาคต เด็กมีแนวโน้มจะปิดบังจากเรามากกว่าจะขอความช่วยเหลือ

 

❤︎ ข้อที่ 4 “รับฟังสิ่งที่ซ่อนอยู่” ❤︎

บางครั้งสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดของลูก คือ “ความรู้สึก” ที่เขาไม่สามารถบอกออกมาได้ แต่ถ้าหากเราใช้เวลาอยู่กับเขามากพอเราจะมองเห็นความรู้สึกเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น “ความกลัว” “ความเศร้า” “ความกังวล” “ความโกรธ” และความรู้สึกที่เขาไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ชัดเจน แต่เราสามารถรับรู้ได้หากเรารับฟังลูกจากใจจริง

 

❤︎ ข้อที่ 5 “รับฟังเพื่อรับฟัง” ❤︎

เชื่อว่าพ่อแม่หลายท่านอยากจจะช่วยลูกในสิ่งที่เราสามารถทได้ แต่บ่อยครั้งเด็ก ๆ ไม่ได้อยากให้เราช่วยแก้ปัญหาให้ พวกเขาแค่ต้องการระบายสิ่งที่เขารู้สึกออกมาให้เราฟังเท่านั้นเอง เพราะพ่อแม่คือพื้นที่ปลอดภัยของเขา

 

สุดท้าย “การรับฟัง” ไม่ได้เพียงแค่ก้าวแรกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา การรับฟังยังเป็นวิธีที่ทรงพลังที่สุดในการเยียวยามนุษย์ แม้จะดูเป็นเรื่องง่าย แต่การรับฟังที่ดีจะสามารถทำให้คน ๆ หนึ่งสามารถเปิดใจ และให้เรามองเห็นมุมที่เขาอ่อนแอที่สุด เพราะบางครั้งปัญหาบางอย่างแก้ไขไม่ได้เดี๋ยวนั้น หรือ แก้ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่การรับฟังช่วยเยียวยาหัวใจ และทำให้เราพร้อมจะกลับไปเผชิญปัญหาหรือก้าวต่อไปข้างหน้าอีกครั้ง