126
"ลูกซน" เป็นสมาธิสั้นหรือเปล่า ?

"ลูกซน" เป็นสมาธิสั้นหรือเปล่า ?

โพสต์เมื่อวันที่ : April 15, 2022

“เด็กเล็ก” ซน อยู่ไม่นิ่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นพัฒนาการตามวัย อาจไม่ต้องทำอะไรเลย ขอเพียงหาพื้นที่ให้ลูกวิ่งซนได้เต็มที่

 

โดยเราไม่ดุ ไม่ห้ามลูก เด็กก็ดีขึ้น แต่หมอก็พบบ่อยที่ทำแบบนี้ ลูกก็ยังซนและวุ่นวายมากอยู่ ดูซนเกินปกติ เช่น จะให้ลูกเล่นแล้วเก็บ ลูกเก็บได้ 2-3 ชิ้นก็ไปทำอย่างอื่น ไม่เก็บจนเสร็จ แบบนี้ พ่อแม่ควรทำมากกว่าเปิดพื้นที่ให้ลูกเล่นอิสระนะคะ ลองอ่านตามค่ะ

 

สาเหตุที่เด็กซนตามวัย กลายเป็นเด็กซนที่ดูเหมือนไม่มีสมาธิเลย ส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยงดู

 

❤︎ 1. ให้เด็กดูจอมากเกินไป ❤︎

ทำให้เด็กชินกับสิ่งเร้า จดจ่อกับสิ่งที่ต้องค่อย ๆ ทำไม่ได้ สาเหตุนี้พบบ่อยมากขึ้น ๆ

 

การแก้ไข

☺︎ อายุน้อยกว่า 2 ปี ห้ามดูเลย

☺︎ อายุมากกว่า 2 ปี ดูได้ 1-2 ชั่วโมง โดยพ่อแม่นั่งดูด้วย คัดเลือกการ์ตูนที่เหมาะสม และลูกต้องทำกิจวัตรประจำวันเสร็จก่อน ไม่ควรตื่นมาดูเลย โดยยังไม่ล้างหน้าแปรงฟันกินข้าว 

❤︎ 2. เด็กไม่มีงานที่มีเป้าหมายทำ ❤︎

สมองจึงไม่รู้จักคำว่าสมาธิ ไม่ได้แปลว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้นนะคะ แต่หมายถึงลูกก็ปกติดี แต่สมองไม่รู้จักคำนี้, ไม่รู้ว่าต้องทำตัวยังไง

 

ส่วนใหญ่เกิดจากพ่อแม่ไม่สอนหรือไม่กระตุ้นให้ทำงานจนเสร็จ เช่น ลูกเก็บของเล่นได้ 2-3 ชิ้นแล้ววิ่ง พ่อแม่ก็ปล่อย ไม่ได้ลงมาจับมือลูกให้ค่อย ๆ ทำจนเสร็จ แล้วให้พี่เลี้ยงเก็บแทน จริง ๆ แล้ว ถ้าเราตั้งใจสอนลูก, กระตุ้นให้ลูกค่อย ๆ ทำจนเก็บของเล่นหมด ลูกจะรู้จัก “ทำจนเสร็จคือยังไง” เมื่อเกิดประสบการณ์ตรง และเกิดขึ้นบ่อย ๆ ลูกจะเก็ทจนครั้งต่อไปทำได้ 

 

ถ้าสังเกตดี ๆ งานที่มีเป้าหมายให้ทำจนเสร็จ ส่วนใหญ่ก็คือ การช่วยเหลือตัวเอง ดังนั้น บ้านไหน ฝึกลูกช่วยเหลือตัวเองและช่วยงานบ้านอยู่แล้ว จะไม่เจอปัญหาลูกซนไม่นิ่ง จริง ๆ นะคะ

 

 

อย่าปล่อยให้พี่เลี้ยงทำแทนลูก, อย่าให้ใครมาขวางกั้นพัฒนาการลูก ขอให้คุณพ่อคุณแม่มองลึก ๆ มันไม่ใช่แค่การแต่งตัว กินข้าว แค่ลูกไม่โป๊ อิ่มท้องให้ใครทำก็ได้ จริง ๆ แล้ว สิ่งที่ซ่อนอยู่ในงานเหล่านี้ คือ โอกาสของลูกที่จะได้ฝึกทำงานมีเป้าหมาย มีสมาธิ อดทน มุ่งมั่น ทำจนเสร็จ ถือเป็นงานสร้างสมองลูกหรือที่เรียกว่าทักษะ EF เลยค่ะ

 

การแก้ไข

☺︎ ให้พี่เลี้ยงปรับบทบาทมาเป็นฝึกลูกทำจนสำเร็จ ห้ามทำแทนเด็ดขาด 

☺︎ ชวนลูกมาช่วยงานบ้าน อย่าเอาแต่ไล่ลูกไปเล่น ให้จ่ายงานตามวัยเขา เด็ก ๆ ชอบทำงานที่มีเป้าหมายโดยพ่อแม่เป็นหัวหน้า เขาจะมองเราเป็นไอดอลด้วย ได้ทั้งสมาธิและความสัมพันธ์ที่ดี ยิงนกได้หลายตัวเลยทีเดียว 

❤︎ 3. พ่อแม่ขยันห้าม, ขยันบอกให้ระวัง ❤︎

ข้อนี้ตรงไป ตรงมา ยิ่งห้ามยิ่งยุ เรารู้อยู่แล้ว ยิ่งบอกว่าอย่าวิ่ง ลูกยิ่งวิ่ง ยิ่งบอกว่าอย่ากระโดด ลูกก็กระโดด อาจหยุดได้แป๊บนึง ก็เปลี่ยนไปกระโดดโซฟาอื่นแทน 

 

การแก้ไข

จัดสิ่งแวดล้อมให้ลูกได้อิสระ เพื่อลดการห้าม แต่ถึงจัดแล้ว ก็ยังมีโอกาสต้องห้ามอยู่บ้าง (แต่จะน้อยลง) ให้ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจลูกแทน ซึ่งการเบี่ยงเบนมี 2 อย่าง คือ เบี่ยงเบนให้ไปเล่นอย่างอื่น กับเบี่ยงเบนมาเล่นกับพ่อแม่ ซึ่งประสบการณ์หมอ พบว่า แบบหลังเวิร์คกว่าค่ะ

 

❤︎ 4. พ่อแม่ไม่ลงเล่นกับลูก ❤︎

แม้เด็ก ๆ จะชอบเล่นของเล่น ชอบเรียกร้องให้ซื้อของเล่นใหม่ แต่ของเล่นที่ลูกชอบที่สุดคือ "พ่อแม่"

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงนะคะ ต่อให้มีของเล่นเป็นร้อย ๆ ลูกก็เหงาได้อยู่ดี เพราะเล่นคนเดียวยังไงก็ไม่มีความสุขเท่าได้เล่นกับพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ไม่สร้างเวลาคุณภาพ คุณจะเจอลูกเรียกร้องความสนใจ จะพบลูกซน และดื้อ ซึ่งเกิดจากความเหงา ความเบื่อของเด็ก ไม่ใช่ความผิดของลูกเลย

 

การแก้ไข

จัดเวลามาเล่น ทำกิจกรรมหรือเล่านิทานก็ได้ แต่ต้องเป็นเวลาคุณภาพที่คุณจดจ่อกับลูกจริง ๆ

จากสถิติของเด็กสมาธิสั้น ในประเทศไทยก็ไม่ต่างจากเมืองนอก พบได้ 5-10% ดังนั้นเด็กมากกว่า 90% ควรมีสมาธิดี แต่ปัจจุบันเราพบเด็กซน วุ่นวาย ทั้ง ๆ ที่เป็นกลุ่ม 90% นั่นเป็นเพราะการเลี้ยงดูทั้ง 4 ข้อดังกล่าว

 

ก่อนที่จะพาลูกมาหาหมอว่าเป็นโรคสมาธิสั้นหรือเปล่า (กลุ่ม 5-10%) ให้หันมาสำรวจการเลี้ยงดูก่อนว่า เราเป็นคนทำให้ลูกมีอาการสมาธิสั้น ทั้ง ๆ ที่ลูกไม่เป็นมั้ย ถ้าไม่แน่ใจ ให้เปลี่ยนการเลี้ยงดูก่อนเลยนะคะ ไม่เสียหายเลยที่จะทำ แต่ถ้าไม่แน่ใจจริง ๆ โดยเฉพาะเริ่มโต อายุมากกว่า 5- 6 ปี แนะนำพบแพทย์ให้ช่วยวินิจฉัยและรักษาเลยค่ะ