24
หลักคิดในการเลี้ยงลูกให้สุขภาพจิตใจแข็งแรง

หลักคิดในการเลี้ยงลูกให้สุขภาพจิตใจแข็งแรง

โพสต์เมื่อวันที่ : April 4, 2022

❤︎ 1. พ่อแม่ควรมีเวลา ❤︎

เพราะทุกอย่างที่สามารถทำกับลูกในเชิงบวกได้ ต้องอาศัยเวลาที่มากพอ ถ้าพ่อแม่มีเวลาน้อย เราจะเร่งรีบ คำพูดต่าง ๆ จะไม่ถูกคัดกรอง ปัญหาการเลี้ยงลูกจะไม่ถูกนำมาคิดจริง ๆ จัง ๆ ถ้ามีเวลา จะได้คิดทบทวน และได้คิดล่วงหน้าว่า เดี๋ยวจะพูดอะไร ทำอะไร ไม่ใช่แก้ไขเฉพาะหน้าซึ่งอาจรอดครั้งนี้แต่อาจสร้างปัญหาอื่นตามมา

❤︎ 2. พ่อแม่ควรดูแลตัวเองให้มีความสุข ❤︎

เพราะหากเรามีความทุกข์หรือเครียดทุก ๆ วัน จะค้นหาความคิดเชิงบวกไม่เจอ ความไม่สบายใจจะถูกแสดงออกทางสีหน้าและคำพูด ซึ่งลูกรับรู้ได้ พ่อแม่จึงควรจัดการตัวเองให้มีความสุขในระดับหนึ่งก่อน นั่นก็หมายความว่า ต้องมีเวลาให้ตัวเองด้วย

 

❤︎ 3. พ่อแม่ควรฝึกเป็นคนคิดบวก ❤︎

ถ้าเรามองอะไรในแง่ลบ เราจะพูดกับลูกในเชิงบวกยาก แนะนำให้เริ่มฝึกจากเหตุการณ์ของตัวเองก่อนค่ะ เช่น เดิมถ้าลูกค้าจุกจิกมาก เราเคยมองแง่ลบว่า ...“วันนี้ซวยแต่เช้าเลย !”... ลองเปลี่ยนเป็น ...“ดีจังที่มีลูกค้าแต่เช้า ดีกว่าไม่มีคนมาซื้อของ”... ถ้าลูกซนมาก ๆ แทนที่จะคิดลบว่า ...“ลูกเราทำไมเลี้ยงยากกว่าคนอื่น”... ก็ลองเปลี่ยนมาคิดบวกว่า ...“ดีนะที่ลูกแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยในช่วงเวลาแบบนี้”...

 

การฝึกคิดในเชิงบวก เป็นการมองเหรียญอีกด้าน ที่ทำให้ใจสุขง่ายขึ้น ฝึกทุก ๆ วันสมองจะเคยชินกับการมองเหรียญด้านความสุขได้เร็วขึ้น จนสามารถพูดกับลูกได้ การคิดในเชิงบวกไม่ได้หมายความว่า ไม่ต้องแก้ปัญหาที่มีอยู่ เราก็ต้องหาวิธีรับมือที่จะทำให้ลูกไม่ต่อต้าน เมื่อพ่อแม่คิดบวกบ่อย ๆ เด็กจะซึมซับจากเราเอง

❤︎ 4. พ่อแม่ควรมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก ❤︎

หรือ เวลาคุณภาพกับลูก ถึงจะสามารถฝึกลูกให้มีวินัยเชิงบวกได้ เด็กจะร่วมมือง่ายและมองเห็นความหวังดีของพ่อแม่ได้ เด็กทุกคนต้องการความรู้สึกเป็นที่ยอมรับจากพ่อแม่ พ่อแม่จึงต้องมีเวลาส่วนตัวกับลูกแต่ละคน เมื่อพ่อแม่ใส่ใจในสิ่งที่เขาทำหรือพูด จริง ๆ ลูกก็จะใส่ใจในสิ่งที่พ่อแม่พูดเช่นกัน 

 

❤︎ 5.พ่อแม่ควรฝึกเด็กช่วยเหลือและดูแลตนเอง (รับผิดชอบตนเอง) ❤︎

และหัดช่วยทำงานต่าง ๆ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน (รับผิดชอบสั่งคม) ความรับผิดชอบ จะทำให้เด็กมีวินัยต่อตนเองและต่อผู้อื่น เมื่อเติบโตขึ้นจะสามารถปรับตัวกับที่ทำงานและสังคมใหม่ได้

❤︎ 6.พ่อแม่ไม่ควรช่วยลูกเร็วเกินไป ❤︎

ปล่อยให้ลูกจัดการปัญหาเองก่อน ให้ลูกได้ติดขัดและจัดการอารมณ์ตนเอง ให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์ และหาทางแก้ไข ถ้าคิดผิดและทำผิด ก็ถือเป็นบทเรียน ลูกจะได้เข้มแข็งค่ะ 

 

แล้วพ่อแม่จะช่วยลูกตอนไหน ?

พ่อแม่ต้องติดตามดูค่ะ โดยพยายามให้ลูกได้คิด-ทำและเกิดข้อผิดพลาดก่อน จนลูกพลาดหลายครั้ง พ่อแม่จึงเสนอตัวเข้าช่วยเหลือ และควรเริ่มจากการให้ข้อมูลเพิ่ม แทนการบอกไปเลยว่าทำยังไง ลูกจะได้เอาข้อมูลไปขบคิดต่อ หรือจะตั้งคำถามเพื่อตีกรอบให้ลูกคิดง่ายขึ้น ไม่หลงทางไปไกลก็ได้ เช่น ...“ที่ลูกกำลังทำอยู่ ตรงกับปัญหาหรือเปล่า”... 

 

การเข้าช่วยเหลือของพ่อแม่ก็เพื่อให้ลูกมีโอกาสประสบความสำเร็จด้วย ไม่ใช่ล้มเหลวตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นลูกจะท้อถอย มองตนเองไม่เก่ง และไม่อยากแก้ปัญหาอีกต่อไป

 

❤︎ 7. ฝึกลูกให้เป็นเด็กรู้จักตั้งเป้าหมาย และมีความพยายาม, ความมุ่งมั่น ❤︎

ถ้าลูกเล็ก ๆ ก็เป้าหมายเล็ก โตขึ้นมา ก็ใหญ่หน่อย โดยพ่อแม่ทำหน้าที่ประคับประคอง ให้กำลังใจจนถึงเป้าหมายนั้น ไม่ใช่กดดันจนเครียดเกินไป คนที่มีเป้าหมาย จะเหมือนมีเส้นทางให้เดิน ไม่ล่องลอยค่ะ แม้จะเกิดความเครียดระหว่างทาง ลูกก็ภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกตนเองมีคุณค่า ลดโอกาสเดินออกนอกลู่ หรือปล่อยตามใจตนเองจนฟุ้งซ่าน 

❤︎ 8. พ่อแม่ควรพยายามจัดการอารมณ์ตัวเองก่อนจัดการลูก ❤︎

นี่คือสำคัญที่สุด กาดาวสิบดวง รวมทั้งเวลามีปัญหากับคู่ชีวิต ควรหลีกเลี่ยงให้เด็กรับรู้ เด็กที่รู้ความทุกข์ของผู้ใหญ่มาก จะเก็บเยอะและเด็กย่อมจัดการความเครียดไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ 

 

❤︎ 9. พ่อแม่ควรรู้เรื่องราวในชีวิตลูก ❤︎

เรื่องเพื่อน, การเรียน, สิ่งที่ชอบ, ไม่ชอบ โดยฝึกสังเกตจากชีวิตประจำวันเขา รวมทั้งฝึกฟังลูก ถ้าสามารถฝึกให้ลูกเข้าใจตนเองได้ก็ยิ่งดีค่ะ เพราะคนที่เข้าใจตนเอง จะแก้ปัญหาตนเองได้ดีกว่าไม่เข้าใจ และอย่าปล่อยให้เด็กแก้ปัญหาเรื่องเพื่อน ๆ โดยไม่ติดตามเลย เพราะทักษะสังคมที่เด็กกำลังพัฒนาอยู่ ต้องการผู้ใหญ่ชี้แนะด้วยนะคะ

❤︎ 10. หากลูกมีความรู้สึกแย่ ❤︎

ไม่ว่าจะเป็น โกรธ เศร้า หงุดหงิด เบื่อ ก็ควรช่วยฝึกลูกรับมือกับความรู้สึกเหล่านั้น เช่น ถ้าลูกโกรธ ลูกจะจัดการยังไง จะเดินไปนั่งคนเดียว, เขียนระบายออกมา(เขียนเป็นคำหยาบก็ได้ เสร็จแล้วค่อยไปทิ้ง), ไปฟังเพลง, ไปเล่น, เล่าให้พ่อแม่ฟัง, ถ้ายังไม่หายโกรธอีก จะออกไปเตะบอลแรง ๆ นอกบ้าน ระบายพลังงานลบออกก็ได้ ดีกว่าด่าคนหรืออาละวาดใส่คนอื่น ซึ่งไม่ใช่การจัดการอารมณ์ และมักจบลงแบบคนรอบตัวแย่ ตัวเด็กก็เฟลกับตนเอง

 

❤︎ 11. ฝึกลูกให้รู้จักปฏิเสธ ❤︎

เพราะคนที่กล้าปฏิเสธ จะถูกเพื่อนชักจูงไปทางอโคจรยาก และกล้ายึดมั่นในสิ่งดี ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้ว เด็กที่กล้าปฏิเสธก็มักเป็นเด็กที่มั่นใจในตนเอง รู้ว่าตนเองมีคุณค่า ดังนั้นการจะสอนลูกให้รู้จักปฏิเสธได้นั้น พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกในเชิงบวกก่อน คือ ไม่ใช้อารมณ์กับลูก จนเด็กเสียความมั่นใจ ไม่ค่อยรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าอะไร

❤︎ 12. หมั่นชื่นชมลูกทั้งเรื่องการเรียน และคุณลักษณะที่ดี ❤︎

เช่น มีน้ำใจ, อดทน, กล้าหาญ, มุ่งมั่น, รู้จักคิดแก้ปัญหา, รู้จักคิดบวก, รู้จักจัดการอารมณ์ตนเอง ฯ 

 

สิ่งที่หมอเขียนมาทั้งหมดนี้ จะช่วยให้ลูกคิดเป็น, เข้าใจตนเอง, จัดการอารมณ์เป็น, มีเป้าหมาย, มีความมุ่งมั่น, คิดบวกได้, รับรู้ว่าตนเองมีคุณค่า, มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง และมีพ่อแม่เป็นที่ยึดเหนี่ยวในใจ ซึ่งเพียงพอกับการเติบโตมาเป็นคนที่มีสุขภาพจิตใจแข็งแรงค่ะ