1866
"ปัญหาของลูก" ปัญหาที่คนทั้งบ้านต้องร่วมกันแก้ไข

"ปัญหาของลูก" ปัญหาที่คนทั้งบ้านต้องร่วมกันแก้ไข

โพสต์เมื่อวันที่ : September 15, 2020

 

บ่อยครั้งที่พ่อแม่มักเข้ามาสอบถามว่า “จะแก้ปัญหาของลูกอย่างไรดีคะ ?” โดยที่พ่อแม่จะพุ่งประเด็นไปที่การแก้ไขที่ตัวเด็กมากกว่าสภาพแวดล้อมที่ทำให้เขาเป็นเช่นนั้น

 

แม้ว่าเด็กไม่ได้เกิดมาเป็นผ้าขาว พวกเขามีอารมณ์พื้นฐานติดตัวมา บางคนเป็นเด็กเลี้ยงง่าย บางคนเป็นเด็กเลี้ยงยาก แต่ทั้งนี้ไม่ว่า เขาจะมีแนวโน้มพื้นฐานอารมณ์เช่นใด สภาพแวดล้อมที่อบอุ่น มั่นคง มีกติกาที่ชัดเจน จะช่วยหล่อหลอมประคับประคองให้เขาเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

ช่วง 7 ปีแรกในชีวิตของเด็ก คือ ช่วงที่ตัวเขาเหมือนของเหลว เด็กยังไม่ได้ฟอร์มตัวเป็นสิ่งใดอย่างชัดเจน ถ้าภาชนะที่เด็กอยู่มั่นคง เด็กจะไปไหลไปไหลมา ถ้าภาชนะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหรือสั่นไปมา เด็กก็ถูกเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเสมอทำให้เขาสั่นคลอนได้ง่าย

 

ดังนั้นสภาพแวดล้อมมีผลต่อตัวเขามาก ถ้าบ้านหลังนั้นอยู่กันเพียงพ่อแม่ลูก ลูกก็จะได้รับอิทธิพลจากพ่อแม่เป็นหลัก แต่ถ้าบ้านหลังไหนมีผู้ใหญ่คนอื่น ๆ อีก ลูกก็จะได้รับอิทธิพลจากผู้ใหญ่คนอื่น ๆ เช่นกัน ไม่ใช่เพียงแต่จากพ่อแม่

 

 

..."เมื่อมีเด็กทำพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น ตี แย่งของ ร้องกรี๊ด โวยวาย และอื่นๆ พฤติกรรมเหล่านี้ คือ ผลลพธ์จากสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ เด็กหลายคนที่ใช้ความรุนแรง พวกเขาอาจจะเห็นผู้ใหญ่ใช้ความรุนแรงกับตน หรือ ใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกัน เด็กที่ไม่เคยถูกขัดใจมาก่อน ก็มักจะเคยชินกับการที่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่ตนต้องการ เมื่อวันหนึ่งมันไม่เป็นเช่นนั้น เขาย่อมเรียกร้องสิ่งที่เขาเคยได้อย่างสุดความสามารถของเขา"...

 

 

 

เด็กไม่ได้เลียนแบบแค่เพียงพฤติกรรมที่แสดงออกมาภายนอก

พวกเขารับรู้อารมณ์ของผู้ใหญ่รอบตัวของเขาด้วย แม้ว่าเราจะไม่ได้พูดอะไรออกมา แต่ถ้าผู้ใหญ่คนไหนที่แสดงท่าทีที่หงุดหงิด อารมณ์ร้อน หรือ เศร้าซึม เด็ก ๆ รับรู้สิ่งเหล่านี้ และซึมซับเข้าไปด้วยเช่นกัน ผนวกกับการที่เด็กยังไม่ได้มีภูมิคุ้มกันทางใจเทียบเท่าผู้ใหญ่ อารมณ์ของผู้ใหญ่นั้นสามารถส่งผลต่อตัวเด็กมากกว่าที่เราจะคาดถึง ด้วยเหตุนี้ เราต้องการแก้ปัญหาของลูก นอกจากพฤติกรรมของลูกที่เราต้องช่วยปรับเปลี่ยนแล้ว สภาพแวดล้อมที่ลูกอยู่ก็ต้องได้รับการปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยเริ่มจาก...

 

1. การหารือกันในครอบครัวเพื่อแก้ปัญหา

การเรียกคนที่อยู่ในบ้านมาพูดคุยหารือกัน ไม่ใช่การพูดคุยระหว่างกินข้าวอย่างสนุกสนาน แต่เป็นการพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง การพูดถึงปัญหา ไม่ใช่การพูดเพื่อหาว่า "ใครเป็นคนผิด" แต่คือการพูดเพื่อหาทาง "แก้ไขปัญหาร่วมกัน"

 

 

2. ในกรณีที่เราเลี้ยงลูกคนเดียว

หรือ ไม่สามารถคุยแบบครอบครัวกับคนในครอบครัวได้ ให้เราเริ่มเปลี่ยนที่ตัวเราก่อน "ทำในสิ่งที่เราทำได้ ทำอย่างเต็มที่" ถ้าหากตัวเราเปลี่ยน ลูกจะมีแนวโน้มเปลี่ยนตาม แม้จะไม่เป็นเช่นนั้นเวลาอยู่ต่อหน้าคนอื่นในครอบครัว แต่อย่างน้อยเขาเปลี่ยนเวลาอยู่กับเรา เมื่อคนอื่น ๆ เห็นว่า ลูกเรามีพฤติกรรมที่เหมาะสมเวลาอยู่กับเรา พวกเขาอาจจะอยากปรับเปลี่ยนตามเราเช่นกัน

 

 

3. เรามีปัญหามากมาย แต่ปัญหาทุกปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาเดียวกัน

ให้เราจัดเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาเสียก่อน โดยเลือกจาก "เวลาที่มีจำกัด" และ "ความจำเป็น" เช่น พฤติกรรมที่ควรจะเปลี่ยนภายในเวลาก่อนที่ลูกจะเป็นวัยรุ่น และมีความจำเป็นกับลูก เพราะพฤติกรรมนั้นส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของลูกโดยตรง อย่าลืมว่า "ลูกเรารอไม่ได้" ให้เริ่มทันทีในสิ่งที่เราทำได้ ทำทีละอย่าง บางคนบอกว่า แก้หลาย ๆ ปัญหาพร้อมกันได้ เเต่สุดท้าย ไม่เราก็ลูกจะหมดแรงเสียก่อน เริ่มทันที แต่ค่อย ๆ ไปทีละอย่าง ก้าวที่ละก้าว แต่อย่าหยุดเดิน

 

 

4. การแก้ไขปัญหา หรือ การจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงลูก

ไม่ควรเริ่มจากการมองลูกว่า "มีปัญหา" แต่ให้คิดว่า "เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เขาดีขึ้นหรือพัฒนาขึ้นจากวันนี้" เช่น ลูกมีพฤติกรรมโมโหรุนแรงเวลามีคนมาขัดใจ ให้เริ่มคิดก่อนว่า เขาโมโหรุนแรงเพราะอะไร เราทราบได้โดยการสังเกต ซึ่งเเนวโน้มของเด็กที่มีอารมณ์โกรธหรือโมโหนั้น มักมาจากการที่เขาสื่อสารไม่ได้ หรือ สารที่เขาจะพยายามจะส่งออกไปไม่ได้รับการตอบสนอง

 

 

..."คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจากการ "ช้าลง" และ "ฟังให้มาก" ไม่ได้แปลว่า ฟังเสียงเด็กพูดอย่างเดียว แต่ให้ฟังจากภาษากายที่เขาสื่อสารออกมาด้วย (ในเด็กเล็กที่ยังไม่พูด เราก็ฟังเขาได้เช่นกัน) เมื่อเราช้าลง และฟังจริง ๆ เราจะเห็นเองว่า ที่มาของปัญหา คือ อะไร และอะไรที่เขาทำไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหานั้นขึ้นมา"...

 

 

ในกรณีนี้ที่เด็กแสดงออกทางพฤติกรรมที่โมโหรุนแรง สิ่งที่เขาขาด คือ "การสื่อสาร และการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม" เขาโมโหได้ แต่เขาต้องโมโหโดยไม่ทำร้ายใคร ไม่ทำร้ายตนเอง และไม่ทำลายข้าวของ เมื่อสงบเขาต้องเรียนรู้ที่จะพูดบอกว่า "เขาโมโห เพราะอะไร" เพื่อผู้อื่นจะได้เข้าใจเขาเช่นกัน

 

เมื่อเราพยายามทำตามข้อ 1-4 แล้ว แต่บางครั้งปัญหานั้นหนักหนาหรือ เราไม่สามารถทำมันได้ด้วยตัวเราเองเพียงลำพัง เราควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็ก วัยรุ่นและครอบครัว หรือ นักจิตวิทยา เพื่อให้เรามีคนกลางมาช่วยมองจากอีกมุมหนึ่ง เพราะปัญหาที่เราเผชิญ เรามองเห็นแค่จากตรงที่เรายืนอยู่ อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ

 

สุดท้าย "ปัญหาของลูก" จึงไม่ใช่ปัญหาของลูก เพราะบ่อยครั้งปัญหาของลูก คือ "ผลลัพธ์" จากสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ และผู้ใหญ่ใกล้ตัวที่ตอบสนองต่อเขา แม้ว่า เราจะพาลูกไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อให้ผู้เขี่ยวชาญเหล่านี้ปรับพฤติกรรมและความคิดของลูกเรา แต่พฤติกรรมของลูกจะเปลี่ยนแค่ช่วงเวลาที่เขาอยู่ในภาพแวดล้อมที่มีผู้เชี่ยวชาญนั้น เมื่อเขากลับไปที่บ้านพฤติกรรมที่เป็นปัญหาจะไม่หายไป เพราะสภาพแวดล้อมยังคงเดิม

 

 

..."วิธีแก้ปัญหาของเด็กที่ดีที่สุด คือ “ทุกคนในครอบครัวร่วมกันแก้ไขปัญหา" และความสำเร็จไม่ใช่ "การแก้ปัญหาได้" แต่เป็น "การจะทำอย่างไรให้เราสามารถคงสภาพที่เด็กทำพฤติกรรมที่เหมาะสม และที่บ้านเป็นไปในทิศทางเดียวกันเช่นนี้ได้ตลอด"...