620
เลี้ยงลูกให้คิดเป็น

เลี้ยงลูกให้คิดเป็น

โพสต์เมื่อวันที่ : May 28, 2020

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการเลี้ยงลูก นอกจากการตั้งใจเลี้ยงลูกให้มีความนับถือตัวเองที่ดี มีสัมพันธภาพที่ดีกับพ่อแม่ อีกหนึ่งเป้าหมาย คือตั้งใจอยากให้ลูก “คิดเป็น”

 

การคิดเป็น ไม่ใชการเรียนเก่ง เพราะตัวเองเชื่อเสมอว่าโลกของลูกในยุคข้างหน้า ไม่ใช่เด็กเรียนดีที่จะอยู่ได้ แต่เป็นเด็ก “คิดเป็น” ที่จะอยู่รอด “โลกของลูกข้างหน้า” ที่ความรู้จะไม่ได้มาจากแค่ตำราหรือโรงเรียน โลกที่มีความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาเสมอ ในขณะเดียวกันก็มีอันตรายและความเสี่ยง โลกที่ต้องการเด็กที่มีความคิดยืดหยุ่นได้ ตัดสินใจได้ ควบคุมตัวเองได้ดี

✚ การคิดเป็น (Executive Function : EF) ✚

เป็นหน้าที่สำคัญที่พ่อแม่ต้องช่วยลูกพัฒนา เพราะเด็ก ๆ ไม่ได้เกิดมาพร้อมสมองที่พัฒนาในเรื่องนี้ แต่เกิดมาพร้อมสมองที่ “พร้อมจะพัฒนา” ถ้ามีพ่อแม่และคนเลี้ยงดูที่ดีคอยช่วยเหลือ

 

✚ การพัฒนาการคิดเป็น (Executive Function) ✚

เป็นการพัฒนาของสมองส่วนหน้า “สมองส่วนบริหารจัดการ” ที่มนุษย์พัฒนาได้มากกว่าสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่น

"การคิดเป็น" มีหลักสำคัญ 3 ด้านใหญ่

 

☺︎ ความจำใช้งาน คือ ความสามารถในการจำสิ่งต่าง ๆ และนำออกมาใช้งานเพื่อการคิด ตัดสินใจ และใช้ในการสื่อสาร

 

☺︎ การยังยั้งชั่งใจ คือ ความสามารถในการควบคุมความคิด ความต้องการ ควบคุมอารมณ์ของตนเอง การโฟกัสที่จุดหมาย ไม่วอกแว่กง่าย การประเมินเพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อไปให้ ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจ รวมไปถึงการ “คิดก่อนทำ”

 

☺︎ การยืดหยุ่นทางความคิด คือ ความสามารถในการปรับตัว ปรับความคิดความต้องการ การจัดลำดับความสำคัญ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

การพัฒนาสมองลูกให้คิดเป็น ทำได้ง่าย ๆ ด้วย “การเล่น” “การทำกิจกรรม” และ “การทำให้ลูกมีประสบการณ์ที่หลากหลาย”

 

"การเล่น" ทุกอย่างล้วนพัฒนาสมองลูก

❤︎ เด็กเล็ก เช่น เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นซ่อนของให้หา ต่อบล็อค ร้องเพลง การสนทนา การอ่านนิทาน ฯลฯ

 

❤︎ เด็กก่อนเข้าเรียน การเล่นด้วยภาษา เช่น เกมทายคำศัพท์ ผลัดกันพูดชื่อสัตว์สิ่งของ เพลงประกอบท่าทาง จะช่วยพัฒนาทั้งความจำใช้งาน การยับยั้งชั่งใจ และการยืดหยุ่นทางความคิด การสอนภาษาที่สอง จะช่วยเพิ่มศักยภาพของสมอง การเล่นทราย ต่อจิ๊กซอ การปีนป่าย การปั้น การต่อบล๊อคสร้างชิ้นงาน การวาดรูป การเล่านิทานต่อเป็นเรื่อง การเล่นสมมติ ฯลฯ จะช่วยพัฒนาความสามารถทางการคิด

 

❤︎ เด็กโต การเล่นที่มีกติกา เล่นเป็นทีม เล่นบทบาทสมมติ บอร์ดเกม เกมสร้างเมือง ต่อเลโก้ การเล่นดนตรี ร้องเพลง เล่นกีฬา การอ่าน การวาดเขียน การปีนที่สูง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ช่วยพัฒนาศักยภาพของสมอง

 

"การทำกิจกรรม"

ตัวอย่างกิจกรรมง่าย ๆ ที่สร้างการพัฒนาการคิดเป็นแบบครบรอบด้าน คือ “การทำงานบ้าน” การทำงานต้องใช้ความจำใช้งาน ความยับยั้งชั่งใจ และความคิดยืดหยุ่น นอกจากนี้ “การอ่าน” ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิทาน หนังสือภาพ อ่านนิยาย ก็ช่วยฝึกความจำใช้งาน ความอดทน ความคิดยืดหยุ่น

"การทำให้ลูกมีประสบการณ์ที่หลากหลาย"

ทั้งจากการปล่อยให้ลูกดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ การแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน การพาลูกออกเดินทางเพื่อพบเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ ประสบการณ์แห่งการได้คิด ได้ตัดสินใจ ที่สำคัญ การยอมให้ลูกมีประสบการณ์ “แห่งความผิดพลาด” ล้วนแล้วแต่ทำให้มีการพัฒนาของสมองส่วนหน้า หรือช่วยพัฒนา EF

 

..."ที่สำคัญที่สุด “การมีสัมพันธภาพที่ดี” ด้วยการเป็นพ่อแม่ที่มีอยู่จริง สัมพันธภาพที่ดีกับ คำตอบของ “EF ที่ดี” ในชีวิตลูก"...